Header

mark

มะเร็งเต้านม

02 พฤศจิกายน 2566

avatar เขียนโดย : นายแพทย์ โดม เจริญทอง แพทย์ศัลยกรรม เฉพาะทางด้านเต้านมและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ

blog

          “มะเร็งเต้านม”  ภัยเงียบที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 เนื่องจากในช่วงระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองมีโรคร้าย เมื่อมีอาการแสดงขึ้น มักจะอยู่ในระยะที่เกิดเป็นก้อนมะเร็งเชื้อมักจะลุกลามและมีการอักเสบแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก
          หากมีการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเเรก ๆ ในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็กและก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่ลุกลามและแพร่กระจายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในระยะนี้มีโอกาสรักษาให้หายขาดมากขึ้น ดังนั้น การศึกษาทำความรู้จักมะเร็งเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้เราสังเกตตัวเอง และตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้มากยิ่งขึ้น

ทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านม


          มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก  แล้วเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งอาจลุกลามและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
         มะเร็งเต้านมสามารถพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่มักพบในเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงวัยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิง


ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง

  • เพศหญิง (มีโอกาสพบในเพศชายเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด)
  • อายุที่มากขึ้น (เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40-50 ปี)
  • ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนอื่น ๆ มากจนเกิดไป เช่น การได้รับยาคุมกำเนิดบางชนิดที่มีฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจนสูง ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ ใช้ยาคุมกำเนิดมากว่า 1 ปีขึ้นไป 
  • ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี และผู้ที่หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปี
  • ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์และไม่เคยให้นมบุตร
  • การมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เนื่องจากอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งพบได้
  • ปัจจัยอื่น ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และการได้รับรังสีในปริมาณสูง เป็นต้น

สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง

  • คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ 

         หากเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง จับแล้วมักไม่รู้สึกเจ็บ ส่วนใหญ่กว่าจะคลำพบก้อนได้ ก้อนเนื้อต้องมีขนาดโตกว่า 1 ซม. และส่วนใหญ่จะคลำพบในช่วงที่เซลล์มะเร็งเติบโตจนเข้าสู่ระยะที่ 2-3 แล้ว การมาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจจึงมีความแม่นยำกว่า

  • ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนไป

      แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าหากเต้านมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากเป็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม โดยที่ไม่เคยผ่าตัดมาก่อน

  • ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือ บวมหนา เหมือนเปลือกส้ม

         มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม  รวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณหัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม อาจเป็นอาการที่เซลล์มะเร็งลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

  • มีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนมหรือมีแผลบริเวณเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลบริเวณหัวนมและรอบหัวนม

          มีน้ำเหลืองหรือเลือดที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม หรือผู้หญิงที่ยังไม่มีเกณฑ์ให้นมบุตร แต่มีน้ำนมไหลออกมาผิดปกติควรรีบพบแพทย์

  • อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม หรือ ผิวหนังของเต้านมอักเสบ 

          หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อร่วมด้วย
มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการทำแมมโมแกรม (Mammography) หรืออัลตราซาวด์(Ultrasound) 

 

ระยะของมะเร็งเต้านมที่อาจรักษาหาย


มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 :  มีโอกาสรักษาหาย
มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 : มีโอกาสรักษาหาย
มะเร็งเต้านมระยะที่ 3 : มีโอกาสรักษาหาย
มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 : รักษาแบบประคับประคอง

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง

  • ตรวจด้วยตัวเอง (Breast Self Exam)

          ช่วงระยะเวลาหลังหมดประจำเดือน 7-10 วัน เป็นช่วงที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง  สามารถดูด้วยตา คลำด้วยมือ การคลำมี 3 วิธี จะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ แต่ต้องให้มั่นใจว่าครอบคลุมเนื้อเต้านมทั้งหมด ทั้งขอบด้านล่างเสื้อชั้นใน บริเวณหัวนม บริเวณใต้รักแร้ และไหปลาร้า อย่ายกนิ้วขึ้นจากเต้านมขณะคลำ
โดยวิธีที่   1) การคลำในแนวขึ้นลง จากบริเวณกระดูกไหปลาร้าจนถึงด้านล่างของทรวงอก โดยคลำจากใต้รักแร้ หรือตำแหน่งใต้แขนจนถึงฐานของเต้านม แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นลง และสลับกันไปเรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม
                 2) การคลำแบบแนวก้นหอย เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า
                  3) การคลำแบบแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด อย่างนี้เรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า นอกจากนี้ ควรคลำเต้านมโดยใช้ 3 นิ้ว 3 สัมผัส (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) และกด 3 ระดับ ดังนี้ กดเบา ให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานปลาง ให้รู้สึกถึงบริเวณกึ่งกลางเนื้อนม และกดหนักให้รู้สึกถึงเนื้อนมใกล้กระดูกอก เมื่อคลำพบก้อนที่โตระยะขนาด 2 - 5 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิตมีถึง ร้อยละ 75 – 90 แต่หากคลำพบก้อนขนาด 5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการรอดมีเพียงร้อยละ 15 - 30 เท่านั้น

  • การตรวจอัตราซาวด์ (Ultrasound)

การอัลตราซาวด์ ทำในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เป็นการตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง เข้าไปกระทบกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ และส่งกลับมาที่เครื่องตรวจ สามารถจับความผิดปกติของเนื้อเยื่อได้ จุดเด่นคือสามารถใช้ได้ในคนอายุน้อย นอกจากนี้ยังสามารถระบุก้อนเนื้องอก ก้อนซีสต์ ตรวจได้ว่าเป็นก้อนน้ำหรือก้อนเนื้อ  ทำให้วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น 

  • แมมโมโแกรม (Mammogram)

วิธีนี้จะเหมาะกับการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก ใช้ได้ดีที่กลุ่มคนอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือคนสูงอายุ ที่มีเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สามารถตรวจพบหินปูนที่มีลักษณะผิดปกติในเต้านม หรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กได้ ใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาที และไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการตรวจ 


รักษามะเร็งเต้านมได้อย่างไรบ้าง


       หากได้รับการวินิจฉัยและทราบระยะของเชื้อมะเร็งแล้วจะสามารถทำการรักษาต่อไปซึ่งมีอยู่หลายวิธีโดยการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจจากแพทย์ และปัจจัยด้านอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย 

  • รักษาด้วยการผ่าตัด : มีอยู่หลายรูปแบบทั้งการผ่าตัดเต้านมออก ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และการผ่าตัดเสริมหน้าอกหลังการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยให้ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย
  • รักษาด้วยเคมีบำบัด : เป็นการใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งหรือทำลายเชื้อมะเร็งเพื่อหยุดการแพร่กระจายและอาจมีผลข้างเคียงจากการรับยาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดยาและร่างกายของผู้ป่วย
  • รักษาด้วยการฉายรังสี : เป็นการใช้รังสีเพื่อยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็งโดยต้องทำการฉายรังสีอย่างต่อเนื่องตามกำหนดการ นอกจากนี้ยังสามารถใช้รักษาร่วมกับวิธีผ่าตัดเต้านมได้ด้วย
  • รักษาด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน : การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องผ่านการวินิจฉัยลักษณะของเชื้อก่อนหากสอดคล้องกับฮอร์โมนจะสามารถใช้ยาประเภทนี้รักษาได้ โดยต้องทานยาต่อเนื่อง 5-10 ปี

          มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยและมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ซึ่งยังเป็นสาเหตุหลักๆ ในการเสียชีวิตและทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างยิ่ง  จึงไม่ควรนิ่งนอนใจควรตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนและเข้ารับ “การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม” จากแพทย์หรือพยาบาลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง  โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวน์ร่วมกับเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) มะเร็งเต้านมถ้าหากทราบในระยะเริ่มแรกสามารถวางแผนการรักษาได้คุณภาพที่ดีกว่า ลดอัตราการสูญเสียเต้านมและชีวิตได้

บทความโดย : นายแพทย์ โดม เจริญทอง แพทย์ศัลยกรรม เฉพาะทางด้านเต้านมและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 

ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2566