Header

mark

มะเร็งตับ อาการเป็นอย่างไร มีกี่ระยะ ระยะสุดท้ายเป็นอย่างไร

03 พฤศจิกายน 2566

avatar เขียนโดย : พญ.วีรนุช รัตนเดช อายุรแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลพิษณุเวช

blog

          “มะเร็งตับ” ภัยร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับที่ 1 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง เป็นเพราะมะเร็งตับระยะแรกมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนมากมักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งลุกลามใกล้ระยะสุดท้าย จึงเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน  เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทัน หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตับให้ห่างไกลจากมะเร็งตับจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 

 

ทำความรู้จักกับ “มะเร็งตับ”


          มะเร็งตับ หรือ Hepatocellular carcinoma คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ตับที่ผิดปกติ เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ จนเกิดเป็นก้อนในตับ และอาจมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ 

มะเร็งตับสามารถแยกย่อยได้เป็น 2 ประเภท
75% เป็นมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ พบได้มากที่สุด เกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนกลายเป็นเนื้อร้าย
อีก 25% จะเป็นมะเร็งตับชนิดท่อน้ำดี เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์บุท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติ 

          "จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2564 จะพบว่าเป็นมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเพศชาย และ เป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งเพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงราว 2-3 เท่า"

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับมีอะไรบ้าง?

 

  • ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ คือ ตับแข็ง 
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบี,ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับ เกิดในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ที่ร้อยละ 50-55 และไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 25-30 โดยผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคนี้ถึง 100-400 เท่า
  • การดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์ มีการศึกษาพบว่า ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ 41-80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ 1.5 เท่า และถ้าดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับสูงขึ้น 7.3 เท่า เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม หรือดื่มน้อยกว่า 40 กรัมต่อวัน
  • ภาวะอ้วน หรือมีภาวะไขมันเกาะตับ
  • สารอะฟลาทอกซิน เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารแห้ง ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วลิสง พริกแห้ง ผู้ที่ตรวจพบว่ามีสารอะฟลาทอกซิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ 5-9 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ตรวจไม่พบสาร  อะฟลาทอกซินในร่างกาย
  • การมีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ

  

ผู้ป่วยมะเร็งตับมีอาการอย่างไร?


          ผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นไม่แสดงอาการแต่มักจะตรวจพบเวลาที่ไปตรวจร่างกายด้วยอัลตราซาวด์  หรือตรวจพบความผิดปกติของระดับโปรตีนบางชนิดในเลือด แต่ถ้าหากมะเร็งลุกลามมากขึ้นอาจมีอาการดังนี้

  • สังเกตเห็นก้อนเนื้อใต้โครงกระดูกซี่โครง
  • ปวดบริเวณช่องท้องด้านขวาซึ่งอาจร้าวไปยังบริเวณไหล่ขวาได้
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร
  • มีอาการอ่อนเพลีย
  • มีปัสสาวะสีเข้ม 
  • มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน บางคนอาจจะมีอาเจียนออกมาเป็นเลือด

มะเร็งตับมีวิธีการตรวจอย่างไรบ้าง?

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ไวรัสตับอักเสบ และสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha-Fetoprotein)
  • ตรวจทางรังสีที่ตับและช่องท้อง เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan และตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
  • ตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก ๆ 6-12 เดือน

การรักษามะเร็งตับทำได้อย่างไร?

  • การผ่าตัด (Hepatic Resection) เป็นวิธีที่ดีที่สุด หวังผลการรักษาให้หายขาดได้ ถ้าขนาดของก้อนในตับเล็กกว่า 3 ซม. และการทำงานของตับยังสมบูรณ์อยู่ แต่มีผู้ป่วยมะเร็งตับเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่สามารถผ่าตัดได้ แต่การรักษามะเร็งตับโดยการผ่าตัดตับเป็นวิธีการรักษาเดียวที่สามารถหวังผลการหายขาดจากโรคและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตที่ยืนยาวได้
  • การฉีดยาเคมีและสารอุดกั้นหลอดเลือดเลี้ยงก้อนมะเร็ง (Transarterial Oily Chemoembolization : TOCE) เป็นวิธีที่ทำให้ก้อนมะเร็งในตับยุบตัวลง สามารถนำมาใช้ ร่วมกับการผ่าตัดได้ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 5 ซม. ในก้อนขนาดใหญ่ วิธีรักษานี้สามารถให้อัตราอยู่รอดโดยเฉลี่ย 9 เดือน  มีส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถยืด อายุขัยได้ถึง 5 ปี
  • การฉีดสารแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็ง (Percutaneous Ethanol Injection : PEI) ผ่านทางผิวหนัง ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เพราะผู้ป่วยมักปวดแสบบริเวณผิวหนังที่ฉีด เป็นอย่างมาก
  • การใช้เคมีบำบัด (Systemic Chemotherapy) สำหรับบรรเทาอาการของมะเร็ง ซึ่งผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก
  • การฉายรังสีจากภายนอกลำตัว เพื่อทำให้แสงรังสีมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงต่อเนื้อเยื่อมะเร็งตับ โดยไม่ให้เกิดภาวะข้างเคียงต่ออวัยวะรอบข้าง เช่น การใส่ยาคีโม การใส่สารรังสี 

          แนวทางการรักษามะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี แต่ต้องคำนึงถึงสภาพและความรุนแรงของโรคตับที่ผู้ป่วยอาจมีอยู่ก่อนแล้ว มีผู้ป่วยมะเร็งตับเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่พบว่าอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดรักษาตับได้  และแม้จะผ่าตัดรักษาจนหายดีแล้ว มะเร็งตับสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก 

          หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินอาหารและตับ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย สำหรับบุคคลทั่วไปควรรับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุก 6-12 เดือน และการดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคร้ายอย่าง “มะเร็งตับ” ได้


บทความโดย : พญ.วีรนุช รัตนเดช อายุรแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลพิษณุเวช
ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566