Header

mark

รับมือกับโรคภูมิแพ้…ในวิกฤตฝุ่น PM 2.5

13 พฤศจิกายน 2566

avatar เขียนโดย : พญ.ฐิติมา คันธชาติวนิช อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลพิษณุเวช

blog

          ด้วยปัญหามลภาวะในปัจจุบันไม่ว่าจะปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้พบผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนหลาย ๆ คนมองว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดปกติสำหรับทุกคนและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว เพราะมักทำให้มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกเป็น ๆ หาย ๆ แต่โรคภูมิแพ้บางชนิดไม่ใช่แค่เรื่องที่สร้างความรำคาญให้เท่านั้น แต่อาจรุนแรงจนเป็นโรคเรื้อรังถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ยิ่งในวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลให้โรคกำเริบได้มากขึ้น จึงควรทำความเข้าใจและหาวิธีรับมือกับโรคภูมิแพ้ให้มากขึ้น

โรคภูมิแพ้กับวิกฤตฝุ่น PM 2.5


         โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายสร้างปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อร่างกายของสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสารนี้พบได้บ่อยได้แก่สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ โดยปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ได้เกิดในทุกคน แต่มีปัจจัยเรื่องของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง


 ปัจจัยทางพันธุกรรม

  • ถ้าไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 12 
  • ถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30-50 
  • ถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ จะทำให้โอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 60-80

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม 


     ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมาก เนื่องจากสารก่อให้เกิดภูมิแพ้อยู่ในอากาศรอบตัวเราไม่ว่าจะในอากาศที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ  การรับประทาน หรือการสัมผัส ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายมีปฏิกิริยากับสิ่งไหน ได้แก่ ไรฝุ่น ขนสุนัขหรือขนแมว เชื้อรา แมลงสาบ  ละอองเกสรหญ้าและวัชพืชต่าง ๆ  เช่น หญ้าแพรก หญ้าพง ผักโขม เป็นต้น  และที่สำคัญมากคือพบว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ pm2.5  ที่มีอนุภาคขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน  มีละอองขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าทำให้ฝุ่นนี้สามารถเข้าจมูกไปยังหลอดลมใหญ่จนถึงหลอดลมขนาดเล็กในปอดได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบและรุนแรงขึ้นได้ 


ฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อโรคภูมิแพ้อย่างไร?

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหลมากขึ้น แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจติดขัด และก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หอบหืด และอาจทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลง และยังเสี่ยงต่อมะเร็งปอดอีกด้วย
  • ผลต่อระบบผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนังอยู่เดิม จะทำให้เกิดอาการกำเริบ เกิดอาการคัน แสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีตุ่มแดงเกิดขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เกิดการเกา ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบที่มากขึ้น เช่น เป็นแผล และมีน้ำเหลืองซึม

อาการของโรคภูมิแพ้ คัดจมูก มีน้ำมูก

รับมือกับโรคภูมิแพ้ในวิกฤตฝุ่น PM 2.5

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่ฝุ่นหนา โดยควรตรวจเช็กสภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอก่อนออกจากบ้าน 
  • ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นในช่วงที่มีค่า AQI สูงเกินค่าปลอดภัย
  • เมื่อต้องออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ เช่น หน้ากากอนามัยชนิด N95 เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ เพื่อชะล้างฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมที่อาจตกค้างในโพรงจมูก อันเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จมูก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบหรือเป็นมากขึ้นได้
  • เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบอาบน้ำทันที และทาโลชั่น หรือ มอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
  • เมื่อมีอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น อาการคันจมูก คันตา คันคอ จาม น้ำมูกไหล ระคายเคืองตา หรือผื่นที่ผิวหนัง สามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ 
  • หากเกิดผิดความปกติกับร่างกาย เช่น แน่นหน้าอก มีอาการแพ้ ควรรีบพบแพทย์

การรักษาโรคภูมิแพ้ 


1.การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ (allergen avoidance)  เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ ตรงจุด และสามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้
2.การรักษาด้วยยา (medications) ยาที่ใช้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคภูมิแพ้
           o  โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ (Allergic rhinitis): ยาพ่นจมูก ยาแก้แพ้ และการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
           o  โรคหืด (Asthma): ยาพ่นกลุ่มสเตียรอยด์ร่วมกับยาพ่นขยายหลอดลม
           o  โรคภูมิแพ้ตาอักเสบ (Allergic conjunctivitis): ยาหยอดตา และยาแก้แพ้
         o  โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis): การดูแลผิวหนังอย่างถูกวิธี เช่นการทาครีมชุ่มชื้นที่มีโอกาสเกิดการแพ้น้อย (hypoallergenic) อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการใช้ยาทาลดการอักเสบที่เหมาะสม
3.การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) โดยข้อบ่งชี้คือผู้ป่วยมีภาวะภูมิแพ้รุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามาตรฐาน ซึ่งมี 2 วิธีหลัก ได้แก่ การฉีดใต้ผิวหนัง (Subcutaneous immunotherapy) และการอมยาใต้ลิ้น (Sublingual immunotherapy)
4.การรักษาภาวะแทรกซ้อน (complications) เช่น โรคไซนัสอักเสบ ภาวะหลอดลมตีบถาวร ภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนทางผิวหนัง เป็นต้น

          ในปัจจุบันโรคภูมิแพ้บางชนิดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการและป้องกันตัวเองให้ดีโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถกระตุ้นให้โรคภูมิแพ้อาการกำเริบขึ้นได้ หากพบว่ามีอาการที่รุนแรงหรือมีทีท่าว่าจะเรื้อรัง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรักษาตามขั้นตอนที่ถูกต้องต่อไป 

 

บทความโดย : พญ.ฐิติมา คันธชาติวนิช อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลพิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566