“งูสวัด” ความเจ็บปวด ที่อันตรายกว่าที่คิด หากปล่อยไว้นาน เสี่ยงตาบอด
22 พฤศจิกายน 2566
รู้หรือไม่ ? โรคงูสวัด - โรคอีสุกอีใส ต้นกำเนิดจากไวรัสชนิดเดียวกัน โรคงูสวัดยังเจอในคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ขณะเดียวกันผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องก็มีโอกาสเป็นงูสวัดได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน และเป็นทางเลือกที่ทำให้ผู้สูงอายุลดความเสี่ยงจากอาการรุนแรงของโรคงูสวัด โดยเฉพาะในรายที่งูสวัดขึ้นตา หากปล่อยไว้เสี่ยงตาบอดได้
โรคงูสวัดเกิดจากสาเหตุอะไร?
พญ.ปาริชาติ เมืองไทย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ในเครือพริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ อธิบายอาการของโรคงูสวัดว่าเป็นโรคปลายประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดอีสุกอีใส บ่อยครั้งพบว่าเชื้อหลบอยู่ในปมประสาท ดังนั้น จึงมักเจอในผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือจะเจอในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่ต้องรับยากดภูมิ และยังมีปัจจัยร่วมเรื่องของการพักผ่อนไม่เพียงพอ ต่างกับโรคอีสุกอีใสที่แม้จะมีตุ่มน้ำขนาดเล็กเหมือนกัน แต่ตุ่มอีสุกอีใสจะมีลักษณะกระจายทั่วร่างกาย พบบ่อยในเด็กอายุน้อย เป็นเพียงครั้งเดียว ไม่เป็นซ้ำอีก และอาจเป็นงูสวัดในอนาคตได้
ส่วนในเคสผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นหน้า หรืออาการปวดรุนแรง ควรรีบมาพบแพทย์ทันที แพทย์จะให้ยากินต้านไวรัส และเพื่อลดความรุนแรงของโรคผู้ป่วยควรได้รับยาหลังเกิดอาการภายใน 2 – 3 วัน แต่ถ้าเป็นในเคสของผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำจะให้ยาฉีดผ่านทางหลอดเลือดดำ ในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและผู้สูงอายุ หลังหายแล้ว บางครั้งอาจมีอาการปวดเหมือนไฟช็อตอีกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายของโรคงูสวัด?
งูสวัดขึ้นหน้า ปล่อยไว้เสี่ยงตาบอด!! พญ.ปาริชาติ กล่าวว่า ตำแหน่งที่น่ากลัวของการป่วยโรคงูสวัด คือ บริเวณแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้า โดยเฉพาะดวงตา หากปล่อยไว้เสี่ยงตาบอดได้ ดังนั้นงูสวัดขึ้นตา ควรพบจักษุแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยอดตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ถึงอาการจะสงบแต่เชื้อไวรัสยังซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่อไหร่ร่างกายอ่อนแอ ก็มีโอกาสถูกกระตุ้นอีก
อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร?
"ตุ่มใสห้ามแกะเกา เสี่ยงติดเชื้อ และวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น ก่อนพบแพทย์" พญ.ปาริชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยควรให้ตรวจเช็คสม่ำเสมอสังเกตตามระยะ ระยะแรกมักจะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัวโดยเฉพาะบริเวณที่ปลายประสาทที่เริ่มอักเสบ ส่วนระยะที่ 2 ให้สังเกตว่า บริเวณที่เจ็บนั้นมีตุ่มพองขึ้นหรือไม่ ? ถ้ามีอาการ ให้รีบพบแพทย์เร็วที่สุด เพราะเมื่อไหร่เข้าสู่ระยะที่ 3 จะมีการเรียงตัวของผื่นตามแนวเส้นประสาท ส่วนใหญ่มักจะพบตามไขสันหลัง หรือบริเวณใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
“สำหรับผู้ป่วยงูสวัด ในระยะเริ่มต้นเป็นตุ่มน้ำใสให้รักษาแผลให้สะอาด หากตุ่มน้ำแตกต้องระวังแบคทีเรียเข้าสู่แผล เกิดการติดเชื้อได้ ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ ถ้าปวดแผลมาก สามารถทานยาแก้ปวดได้ ที่สำคัญไม่ควรใช้แกะเกาตุ่มงูสวัด เพราะอาจกลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า หรือเกิดแผลเป็นได้” พญ.ปาริชาติกล่าว
ปัจจุบัน งูสวัดป้องกันได้ด้วยวัคซีน และกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนลดเสี่ยง
ในกรณีของคนปกติ ผื่นแดงคันตามแนวปมประสาท เช่น เอว แขน ขา จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสและแห้งตกสะเก็ด อาการจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ หรืออาจทิ้งร่องรอยไว้ แต่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะคุ้มกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ป่วยที่งูสวัดขึ้นตาให้รีบพบแพทย์ทันที ก่อนที่จะเกิดอาการ และความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนตามมา วิธีการป้องกันในปัจจุบัน ไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1) Live-attenuated zoster vaccine (วัคซีนที่เตรียมจากเชื้อไวรัส varicella zoster ชนิดที่ถูกทำให้อ่อนแรงลง) วัคซีนนี้ฉีดเข็มเดียว ฉีดได้ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
2) Recombinant zoster vaccine (วัคซีนชนิดหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์) เป็นวัคซีนตัวใหม่ที่เข้าไทย ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 2-6 เดือน สามารถฉีดในคนทั่วไปอายุ 50 ปีขึ้นไป คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้ยากดภูมิคุ้มกันในอายุ 18 ปีขึ้นไป มีประสิทธิภาพสูงและระดับภูมิคุ้มกันอยู่นานอย่างน้อย 10 ปี
ทั้งนี้ พญ.ปาริชาติ ยังคงแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงยังคงต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อด้วย
พญ.ปาริชาติ เมืองไทย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566