Header

mark

โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร รับโรคระบาดยอดฮิตช่วงหน้าฝน

12 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : พญ.สุมิตรา อวิรุทธ์นันท์, กุมารแพทย์ เฉพาะทาง ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด, รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ

blog

“โรคมือ เท้า ปาก” โรคยอดฮิตในเด็กที่พบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง หากคุณพ่อ คุณแม่กังวลว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับลูกๆ ของตนหรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วควรจะทำอย่างไร มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคมือ เท้า ปากได้หรือไม่? บทความนี้จะมาตอบข้อสงสัยกัน!

ทำความรู้จักกับโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส โดยที่พบบ่อย ได้แก่ คอกแซกกี (Coxsackie virus) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ EV71 โดยโรคนี้มักจะพบมากในเด็กเล็ก และจะยิ่งส่งผลให้เจ็บป่วยรุนแรงและอันตรายมากในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มักพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น

โรคมือ เท้า ปาก สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก

โรคมือเท้าปาก โรคยอดฮิตลูกน้อยในหน้าฝน

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่ออย่างไร

โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และจากการสัมผัสทางอ้อมผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำ และอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยส่วนใหญ่มักพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก 

โรคมือ เท้า ปาก สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

ในเด็กจะมีไข้สูง 3-4 วันและเริ่มมีตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก ในวันแรกของไข้ มีอาการเจ็บร่วมด้วย ทำให้ทานอาหารไม่ได้ มีน้ำลายไหล และอาจมีผื่นขึ้นตามขาทั้ง 2 ข้าง อาการมักจะหายเองภายใน 5-7 วัน 

ในผู้ใหญ่ ลักษณะอาการจะแตกต่างจากเด็ก คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว แผลในปาก อาจมีผื่นขึ้นหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงและหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ แผลในปากจะดีขึ้นเอง ตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าจะค่อยๆ หายไป

แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก EV71 ที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้แก่

อาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ชัก ซึม อาเจียน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดบวมน้ำเฉียบพลันหรือบางรายที่รอดชีวิต แต่ความรุนแรงของโรคอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทตามมาได้

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก 

  1. ผู้ปกครองควรคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน  หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
  2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัสจะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 
  3. ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนฝ่ามือและอธิบายและเตือนว่าไม่ควรเอานิ้ว ของเล่น หรือวัตถุอื่น ๆ เข้าปาก
  4. หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
  5. โรคมือเท้าปากสามารถป้องกันและลดเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตมาเพื่อต้านเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 โดยเฉพาะ เพราะเป็นเชื้อตัวสำคัญที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ สำหรับอายุที่แนะนำในการฉีดวัคซีนมือเท้าปาก คือ เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี
  6. สำหรับสถานศึกษาควรจัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และหากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว
  7. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก

โรคมือ เท้า ปาก รับมืออย่างไรดี

การรักษาโรค

ปัจจุบันการรักษาโรคมือ เท้า ปาก เป็นการรักษาตามอาการของโรคที่พบในผู้ป่วยเช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

 โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่หายเองได้ แต่ก็แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากเด็กเป็นโรคนี้ไม่ควรไปโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น และต้องแจ้งทางโรงเรียนทราบ ควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ ที่สำคัญคุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตอาการหากมีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว

บทความโดย : พญ.สุมิตรา อวิรุทธ์นันท์, กุมารแพทย์ เฉพาะทาง ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด, รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566