Header

mark

ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร อาการเป็นอย่างไร รักษาได้อย่างไร

13 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : พญ.ดารกา รัชฎาภรณ์กุล, อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม,รพ.พิษณุเวช

blog

อาการน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ หากคุณมีอาการเหล่านี้ ร่างกายกำลังบ่งบอกว่าต่อมไทรอยด์ของคุณมีความผิดปกติ!! อาจเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและมีความสำคัญอย่างมาก หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติอาจทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติหรืออาจนำไปสู่ความผิดปกติรุนแรงต่าง ๆ ตามมาได้

ไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร

ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายได้ รวมถึงส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ บางรายที่เป็นนาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะหัวใจวายหรือว่าภาวะกระดูกบางที่เกิดจากแคลเซียมในเลือดที่สูงกว่าปกติ ทำให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุน

อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ

 

อาการไทรอยด์เป็นพิษ

  • ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ
  • ตาโปน คอโต
  • น้ำหนักตัวลดทั้ง ๆ ที่ทานจุ
  • อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการสั่น โดยเฉพาะมือ
  • ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • สุขภาพผมเปลี่ยนไป ผมเปราะบางขาดง่าย และมีอาการผมร่วง
  • ผู้หญิงมีรอบเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมีสีจางและมาไม่สม่ำเสมอ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและต้นแขน

ภาวะที่ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ท้องเสีย ตัวและตาจะเหลือง สับสนมึนงงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำและอาจช็อก นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบล่าช้า ๆ อาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย สาเหตุมาจากหัวใจเต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะ 

โรคไทรอยด์เป็นพิษมักพบได้บ่อยในผู้หญิง มากกว่าผู้ชายประมาณ 5-10 เท่า ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจนมากนัก

ถ้ารู้ว่าเสี่ยง ต้องลองตรวจต่อมไทรอยด์เบื้องต้น

 

วิธีตรวจต่อมไทรอยด์เบื้องต้น...ด้วยตัวเอง

  • ส่องกระจก ยืดลำคอขึ้น หันทางซ้ายและขวาช้า ๆ เพื่อหาความผิดปกติบริเวณลำคอ
  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือทั้งสองข้างคลำลำคอพร้อม ๆ กันในแต่ละด้าน จากด้านหลังไปด้านหน้า และจากบนลงล่าง
  • หากผมการสัมผัสที่ติดขัดเหมือนมีก้อน...ให้ลองคลึงดู
  • หากพบก้อนผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด 

 

ไทรอยด์เป็นพิษ รักษาอย่างไร

การรับประทานยา : ยาที่ใช้ในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ คือ ยาที่ออกฤทธิ์ลดการสังเคราะห์ฮอร์โมน ทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยลงเมตาบอลิซึมของร่างกายจะลดลงอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการมีเมตาบอลิซึมสูงจะหายไปเช่นใจสั่นเหนื่อยผอมลงขี้หงุดหงิดมือสั่นโดยมากจะให้ยา 1-2 ปีแล้วหยุดยา ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะสามารถหยุดยาได้โดยไม่กลับมาเป็นซ้ำแต่ผู้ป่วยบางส่วนต่อมไทรอยด์จะกลับเป็นพิษขึ้นอีกภายในระยะเวลา1ปีหลังหยุดยาซึ่งสามารถให้การรักษาด้วยการกินยาต่อไปหรือใช้วิธีอื่นรักษาได้

การรักษาด้วยสารรังสี : การกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสี จะทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยจะต้องสัมผัสกับสารไอโอดีนกัมมันตรังสีและจะมีเนื้อเยื่อไทรอยด์บางส่วนที่ถูกทำลายไป

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ : การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือการผ่าตัดออกทั้งหมดสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วมักใช้วิธีนี้เมื่อใช้วิธีอื่นแล้วไม่ประสบความสำเร็จแต่ข้อเสียคือผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดและมีโอกาสเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำหลังการรักษาเช่นกัน อาจพิจารณาในกรณีมีโรคอื่นของต่อมไทรอยด์ที่ต้องผ่าตัดร่วมด้วย เช่น เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ จะสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

 

เราควรคอยสังเกตอาการตัวเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการที่สงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

สำหรับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาโดยพลการ เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะไม่หายขาด กลับมาเป็นซ้ำได้อีก

บทความโดย : พญ.ดารกา รัชฎาภรณ์กุล, อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม,รพ.พิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566