Header

mark

โรคข้อเข่าเสื่อม อาการเป็นอย่างไร สาเหตุจากอะไร อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

13 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : นพ.ณัฐพล เชื้อสำราญ, ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อเฉพาะทางด้านเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน, รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ

blog

เสียงก๊อกแก๊กเวลาลุก นั่ง มาพร้อมอาการปวดบริเวณเข่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือน “ข้อเข่าเสื่อม” หลายคนมักเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคที่เกิดกับผู้สูงวัยตามสภาวะเสื่อมถอยของร่างกายเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น  แต่ทว่าแท้จริงแล้วโรคนี้สามารถเกิดได้ในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีสถิติการพบผู้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในคนที่อายุน้อยมากขึ้นจากปัจจัยการใช้ชีวิต ทั้งจากการมีน้ำหนักตัวเกิน และการใช้ข้อเข่ามากเกินไปหรือใช้ผิดท่าผิดวิธี จนทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ 

เพื่อให้ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมมาเป็นความรู้ให้ทุกคนทราบและดูแลสุขภาพตนเองให้ดีมากขึ้น

โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่แก่ก็เป็นได้

 

ทำความรู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อม 

โรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกผิวข้อเข่า ทำให้กระดูกอ่อนสูญเสียความยืดหยุ่น เกิดการบาดเจ็บหรือสึกหรอง่าย กระดูกอ่อนผิวข้อที่สึกหรอจะกระตุ้นให้เยื่อหุ้มข้อเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ข้อเข่าบวม คลำได้อุ่นๆ 

เมื่อมีอาการปวดเข่าซึ่งสัมพันธ์กับการใช้งาน เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าสึกหรอมากๆ กระดูกแข็งที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนจะต้องรับภาระมากขึ้น ร่างกายก็จะพยายามซ่อมแซมชดเชย เกิดเป็นจงอยกระดูกหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่ากระดูกงอก ทำให้ข้อดูใหญ่ขึ้น บางรายเมื่อเป็นมานานก็จะมีลักษณะของข้อเข่าโก่งจนเห็นได้ชัด

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของกระดูกผิวข้อเข่

 

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

             อย่างที่ทุกคนทราบกันคือโรคนี้เกิดจากปัจจัยของอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามสภาวะเสื่อมถอยของร่างกายที่ใช้งานข้อเข่าจากการเดินเยอะหรือการยืนนานๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มของการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายที่อายุเท่ากัน รวมทั้งปัจจัยของกรรมพันธุ์หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งปัจจัยพฤติกรรมจากการใช้ชีวิตผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้นและการใช้งานผิดประเภท เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งงอเข่าหรือนั่งคุกเข่านานๆ การขึ้นลงบันไดวันละหลายๆ ครั้ง และการนั่งขัดสมาธิ พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ข้อเข่าพังได้เร็วยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้การได้รับอุบัติเหตุมา เช่น รถชน มอเตอร์ไซค์ชน หรือหกล้มเข่ากระแทกพื้นทำให้ข้อแตก ลักษณะเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดเป็นแผลในข้อเข่าซึ่งต่อมานำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน

 อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

 

อาการบ่งชี้ของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • มีอาการปวดข้อตึงหรือขัด รวมถึงข้อยึด ข้อฝืด ยึดงอขาออกได้ไม่สุดในบางครั้ง  สามารถสังเกตได้ในช่วงช่วงตื่นนอน มักจะเคลื่อนไหวลำบากในตอนเช้า แต่เป็นไม่นานอาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
  • เวลาขยับหรือเคลื่อนไหวเช่น ลุกยืน เดินขึ้นบันได ตอนงอเหยียดข้อเข่าจะมีเสียงเสียดสี “ก๊อกแก๊ก” กันของข้อให้ได้ยิน
  • เจ็บปวดบริเวณข้อเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น นั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ รวมถึงเวลายืน เดินกะเผลกและข้อผิดรูปจนขาโก่งได้
  • เสียวหัวเข่า โดยเฉพาะเวลาเดิน หรือมีการเคลื่อนไว ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง

 

การหลีกเลี่ยงข้อเข่าเสื่อม เริ่มต้นที่การดูแลสุขภาพ

  • ควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดภาระในการแบกน้ำหนักของข้อเข่าให้ไม่ต้องทำงานหนัก
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้เข่าเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ
  • การใช้อุปกรณ์ผ่อนแรง เช่น การใช้ไม้เท้าช่วยเวลาเดิน โดยถือไม้เท้าด้านเดียวกันกับขาที่ดี หรือการขึ้น-ลงบันได ควรก้าวขาข้างดีนำขึ้นก่อน แต่หากก้าวลงบันได ก้าวขาข้างที่ปวดเข่าลงก่อน
  • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง เช่น การปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, รำมวยจีน

 

หากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม  โรคนี้หากพบตั้งแต่เนิ่นๆ มีอาการไม่รุนแรง ก็สามารถหายขาดได้ โดยการรักษาจะมี 2 วิธี

  • การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่ การรับประทานยา การทำกายภาพ การฉีดยา 
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะปานกลางหรือรุนแรง เป็นวิธีที่จะช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมทำให้หายขาดจากอาการปวดและทุกทรมานได้ ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวเข่าได้ดีดังเดิม สามารถเดินได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บทความโดย : นพ.ณัฐพล เชื้อสำราญ, ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อเฉพาะทางด้านเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน, รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566