อาหารต้องห้ามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้
29 ตุลาคม 2566
การดูแลสุขภาพในระหว่างการตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องใส่ใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรก เนื่องจากอาหารที่คุณแม่เลือกจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของทารกในครรภ์ ดังนั้นมีอาหารบางอย่างที่ไม่แนะนำให้คุณแม่รับประทานเพื่อปกป้องสุขภาพของทารกและการตั้งครรภ์
พญ.สุพิภัทฏิพร สิทธิศร สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PRINCIPAL HEALTHCARE) กล่าวว่า หนึ่งในคำถามที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะสอบถามกับแพทย์อยู่เสมอคือ “อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามทานมีอะไรบ้าง” เพราะอาหารที่ชอบทานเป็นประจำอาจจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้องมักจะมีมากในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนหรืออยากรับประทานอาหารบางชนิด ซึ่งบางครั้งเผลอรับประทานอาหารที่อาจส่งผลร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งอาหารที่ไม่แนะนำให้รับประทานมีดังนี้
อาหารที่ปรุงไม่สุกและไม่สด ในอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกอาจมีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่อาจเกิดอันตรายรุนแรงกับคุณแม่และอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตได้จากการที่คุณแม่มีการติดเชิ้อ เช่น ไข่ดิบ ปลาดิบ (ซูชิ ซาซิมิ เป็นต้น) เนื้อ อาหารทะเลดิบ (กุ้งดอง หอยนางรม หมึกช็อต) เนื้อดิบ (คาร์ปาโช สเต็กเนื้อดิบ ๆ เป็นต้น) และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมถึงควรเลือกชีสที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว
อาหารรสจัดและอาหารหมักดอง อาหารที่มีรสเค็มจัดส่งผลทำให้หัวใจและไตทำงานหนักขึ้นทำให้คุณแม่เกิดอาการบวมได้ ส่วนรสหวานจัดเพิ่มภาระให้กับตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลมากขึ้นเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้รสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด จะเพิ่มภาระให้กระเพาะต้องทำงานหนัก ทำให้ท้องอืด เกิดภาวะกรดไหลย้อนและอาหารเป็นพิษได้ สำหรับของหมักดองมักมีเกลือน้ำตาลหรือขัณฑสกรผสมอยู่จำนวนมากซึ่งเข้าข่ายอาหารรสจัด อาหารที่ควรงด เช่น ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำหอยดอง กิมจิ แหนม ไข่เค็มดองเกลือ ผักกาดดองเป็นต้น
อาหารที่มีสารปรอทสูง ๆ สารปรอทส่งผลเสียต่อระบบประสาทและสมองของคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง ปลาฉลาม และปลาทูน่า(ควรรับประทาน 2 ก้อนหรือ 2 กระป๋องต่อสัปดาห์)
คาเฟอีนที่มากเกินไป อาจทำให้เสี่ยงแท้งบุตรและทารถในครรภ์น้ำหนักตัวน้อยและมารดามีอาการท้องผูกและหากดื่มมากเกินไปก็อาจทำให้ใจสั่นและนอนหลับยาก ส่งผลให้เกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้เครื่องดื่มบางชนิดมีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น (รับประทานได้ในบริมาณ น้อยกว่า 200 มก/วัน)
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอร์ช่วงที่ตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้ง หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ แม้ปริมาณเล็กน้อย อาจส่งผลต่อการสร้างสมอง พัฒนาการ และการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นต้น
การเลือกรับประทานอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ เลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ ธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง โฟเลทในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด แหล่งอาหารที่มีเหล็กและโฟเลต ได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ยังต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน แหล่งอาหารได้จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม อาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือ ปรุงประกอบอาหารด้วยเครื่องปรุงที่มีการเสริมไอโอดีน อาหารที่มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาจะระเม็ด นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว “เลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ” และหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ สำหรับเมนูที่แนะนำ เช่น ไข่ตุ๋นใส่ผักหมูสับ ต้มเลือดหมูใส่ผัก อกไก่ผัดขิง ปลานึ่งกับผักลวก แกงเลียง เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ พญ.สุพิภัทฏิพรกล่าวทิ้งท้าย.-
ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2566