Header

mark

โรคต้อ คืออะไร 4 โรคต้อ “ภัยร้ายต่อดวงตา” รู้ทันก่อนสูญเสียการมองเห็น

12 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : นพ.ประเสริฐ เจียประเสริฐ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพิษณุเวช

blog

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากกับร่างกายของเรา นับเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความอ่อนไหวมาก เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับดวงตา ย่อมส่งผลถึงการใช้ชีวิต  โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา มาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว เบลอ มองไม่ชัด ซึ่งส่วนมากก็จะพบว่าเป็นโรค “โรคต้อ”  โรคนี้ถ้าหากปล่อยไว้อาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

โรคต้อ คืออะไร

โรคต้อ คือ อาการผิดปกติของดวงตา โดยจะแบ่งความรุนแรงและอาการต่างกันไปในแต่ละชนิด

ซึ่งโรคต้อนั้นมีหลายชนิดทั้ง ต้อหิน, ต้อกระจก,ต้อลม และต้อเนื้อ แต่ละชนิดมีอาการที่ต่างกัน หากเรารู้ว่าอาการของตาและการมองเห็นแบบนี้ คือ จุดเริ่มต้นของโรคต้อชนิดไหนควรรีบตรวจรักษา ก็จะได้ช่วยยืดอายุการใช้งานของดวงตาไปได้อีกนาน

โรคต้อ ภัยร้ายดวงตาใกล้ตัว รู้ทันก่อนสาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ต้อหิน คืออะไร

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคต้อที่เกิดจากเซลล์เส้นใยประสาทในดวงตาลดลง จนทำให้ขั้วประสาทตา (Optic disc) เสื่อมสภาพ โดยปกติแล้วเส้นประสาทในขั้วประสาทตาทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทไปที่สมอง ถ้าเส้นประสาทตัวนี้เหลือน้อย ภาพที่ส่งไปยังสมองจะน้อยลง ทำให้ความกว้างในการมองเห็นลดลง จนตามัว และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด

ซึ่งสาเหตุเกิดจากความดันลูกตาที่สูงขึ้นจนทำลายประสาทตา ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ คนที่อายุมากกว่า 35 ปี,  คนที่มีภาวะสายตาสั้นมากๆ, คนที่รับประทานยาเเละอาหารเสริมกลุ่มสเตียรอยด์, เคยมีการบาดเจ็บกระทบกระเเทกที่ตาหรือศีรษะ, คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน 

อาการของต้อหินในช่วงแรกไม่แสดงอาการจนเริ่มสูญเสียลานสายตา คือ การมองเห็นจำกัดวงแคบลง แต่ในต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตามาก โดยส่วนใหญ่เมื่อตรวจเจอมักจะเป็นมาก สูญเสียการมองเห็น ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ จึงมีความสำคัญที่ควรจะคัดกรองต้อหินปีละครั้ง 

การรักษาต้อหิน ต้องใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตาอย่างสม่ำเสมอ หรือการใช้เลเซอร์ผ่าตัดตามดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรค วิธีที่การป้องกันอาการต้อหินที่ดีที่สุดคือตรวจพบในระยะเริ่มแรก

ทำความรู้จักต้อทั้ง 4 ประเภท

ต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract) คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา จนทำให้โครงสร้างทางเคมีของโปรตีนในเลนส์ตาเปลี่ยนไป ทำให้เลนส์ตาขุ่น มีผลต่อการมองเห็น ตาพร่า ภาพไม่ชัด ภาพซ้อน อาจเกิดได้กับตาทั้ง 2 ข้าง หรือข้างเดียวก็ได้ ต้อกระจกเป็นโรคตาที่เป็นสาเหตุของการตาบอดมากที่สุดในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก แต่เป็นโรคที่รักษาได้

ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคือ อายุที่มากขึ้นมักพบในผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่นๆ ได้แก่  การเป็นตั้งแต่กำเนิด, เกิดจากอุบัติเหตุกับดวงตา, การได้รับแสง UV บ่อยๆ หรือแสงแดดจ้ามากๆ,  การสูบบุหรี่, การใช้ยาสเตียรอยด์ รวมถึงโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ทำให้เป็นต้อกระจกเร็วขึ้น

อาการของต้อกระจกที่มักพบคือ 

  • รูม่านตาเป็นสีขาวขุ่น ในช่วงแรกจะเห็นไม่ชัด เมื่อต้อสุกขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นความขุ่นชัดเจนขึ้น 
  • ตาเป็นฝ้าขาว มองภาพไม่ชัด โดยเริ่มจากตามั่ว แล้วค่อยๆพร่าขุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนมองเห็นได้ยาก 
  • ภาพซ้อนจากสายตาเอียง 
  • สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อยจนต้องเปลี่ยนแว่นเป็นระยะ 
  • มองภาพไม่ชัดในที่แสงจ้า เห็นชัดขึ้นในที่แสงน้อย แต่สามารถเห็นสีได้น้อยกว่าปกติ

การรักษา หากผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าเป็นต้อกระจก ในช่วงที่ยังมีอาการเล็กน้อย เลนส์ตายังไม่ขุ่นมาก สามารถรักษาได้โดยใช้ยาหยอดตาทุกวัน (วันละ 3-4 ครั้ง) ทั้งนี้การหยอดตาไม่ได้เป็นการรักษาโรคต้อกระจก เป็นแค่การชะลออาการไม่ให้เลนส์ตาขุ่นเร็วขึ้นเท่านั้น แต่วิธีการรักษาต้อกระจกที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดต้อกระจกออกและฝังเลนส์เทียมต้อลม ต้อหิน ต้อกระจก และต้อเนื้อ แตกต่างกันตามอาการและความรุนแรง

ต้อลม

ต้อลม (Pinguecula) เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว ตัวต้อจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน สีขาวหรือเหลือง อยู่บริเวณเยื่อบุตาขาว ส่วนใหญ่มักเกิดอยู่ที่บริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูกแต่อาจจะเป็นได้ทั้งด้านหัวตาและหางตาพร้อมกันได้เมื่อเยื่อบุตานูนขึ้นส่งผลให้เกิดการระคายเคืองตามากขึ้น

ซึ่งสาเหตุเกิดจากจากแสงอัลตราไวโอเลต ลม และฝุ่นละอองที่ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนใหญ่อายุที่พบจะมากกว่า 30 ปีขึ้นไป และมักเกิดกับผู้ที่ทำงานกลางแจ้งที่โดนทั้งลม แดด และฝุ่นละออง หรือผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโลหะ

อาการของต้อลมที่มักพบ

  • เริ่มต้นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่จะเกิดความผิดปกติของเยื่อบุตาดังที่กล่าวมา
  • กรณีต้อลมมีการอักเสบจะมีอาการเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงในตำแหน่งของต้อลมร่วมด้วย เนื่องจากมีการอักเสบขยายตัวของเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงตาบริเวณต้อลม

การรักษาต้อลมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคหากโรคยังไม่รุนแรงคือต้อมีขนาดเล็กผู้ป่วยไม่รู้สึกระคายเคืองการรักษาในระยะนี้แพทย์มักแนะนำให้ป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นมากขึ้นโดยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างเคร่งครัดด้วยการสวมแว่นกันแดดและลมอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีกิจกรรมนอกอาคารเพื่อไม่ให้ต้อเติบโตลุกลาม หากต้อลมเป็นปัญหาเรื่องความสวยงาม สามารถผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์จี้ออกได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกเช่นกันส่วนมากต้อมักเกิดในผู้สูงอายุจากการเสื่อมตามกาลเวลา

ต้อเนื้อ

ต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นต้อที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากต้อลม ตัวโรคเกิดจากเยื่อบุตาขาวอักเสบเหมือนกัน แต่อาการตาเป็นต้อเนื้อจะรุนแรงกว่าต้อลม ต้อเนื้อจะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีขาว มีเส้นเลือดอยู่ในเนื้อเยื่อนั้น อยู่ที่บริเวณหัวตาหรือหางตา

โดยเนื้อเยื่อนี้จะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยื่นเข้าไปในบริเวณตาดำ หากเนื้อเยื่อนี้เข้าไปปิดที่รูม่านตา จะทำให้ผู้ที่เป็นต้อเนื้อสายตาเอียง และมองไม่เห็นในที่สุด แต่ผู้ป่วยจะไม่ได้สูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร เมื่อลอกต้อเนื้อออกจะกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

ซึ่งสาเหตุเกิดจาก กรรมพันธุ์, เกิดจากการใช้สายตาหนักเกินไป, ดวงตาได้รับการสัมผัสกับมลภาวะต่าง ๆ เช่น ฝุ่น แสงแดด และรังสี UV เป็นเวลานาน

อาการส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นต้อเนื้อ เหมือนกับการเป็นต้อลม คือระคายเคือง เจ็บ แสบ น้ำตาไหล เหมือนมีเม็ดทรายเข้าตา ทำให้เกิดการอักเสบได้ แต่อาการรุนแรงกว่าต้อลม คือต้อเนื้อจะมีผลกับการมองเห็น หากต้อเนื้อยื่นเข้าไปในบริเวณตาดำ จะทำให้สายตาเอียง หรืออาจจะมองไม่เห็นได้

การรักษาด้วยการใช้ยาบรรเทาอาการหยอดยาเพื่อลดการระคายเคือง หรือรักษาโดยการควบคุมการอักเสบด้วยยาหยอดตาลดการอักเสบ น้ำตาเทียมป้องกันตาแห้ง แต่ยาเหล่านี้จะช่วยได้เพียงบรรเทาอาการเท่านั้น ในกรณีของต้อเนื้อที่มีการลุกลามเข้าไปบนกระจกตามากมีขนาดใหญ่และอักเสบเรื้อรังการมองเห็นแย่ลงเพราะกดกระจกตาจักษุแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อเพื่อลอกเอาเนื้อเยื่อต้อเนื้อออกจากเยื่อตาและผิวกระจกตา

 

โรคต้อนี้มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่คนวัยอื่น ๆ ก็อย่าชะล่าใจไปเพราะหากไม่ถนอมดวงตาให้ดี  ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต้อได้เช่นกัน หากใครที่เริ่มมีปัจจัยเสี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยงซะตั้งแต่เนิ่นๆ หมั่นตรวจสุขภาพสายตาทุกๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะ “ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องได้รับการดูแล” 

 

บทความโดย : นพ.ประเสริฐ  เจียประเสริฐ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566

 

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

อาหารต้องห้ามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

29 ตุลาคม 2566

อาหารต้องห้ามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

การดูแลสุขภาพในระหว่างการตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องใส่ใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรก เนื่องจากอาหารที่คุณแม่เลือกจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของทารกในครรภ์ ดังนั้นมีอาหารบางอย่างที่ไม่แนะนำให้คุณแม่รับประทานเพื่อปกป้องสุขภาพของทารกและการตั้งครรภ์

บทความทางการแพทย์

ต่อมลูกหมากโต ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

12 มีนาคม 2567

โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร อาการและการรักษาเป็นยังไง

โรคต่อมลูกหมากโตหรือ BPH (Benign Prostate Hyperplasia) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มากขึ้นจากการเพิ่มจำนวนเซลล์และเนื้อเยื่อของตัวต่อมลูกหมาก