Header

mark

กรมควบคุมโรค ย้ำ “กินหมูดิบ เสี่ยงหูดับ” แนะประชาชน กินอาหารปรุงสุก ถูกหลักอนามัย

avatar เขียนโดย : สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

blog

ข่าวสุขภาพ

“หูดับ” หรือ “โรคไข้หูดับ” อาจเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในร้านหมูกระทะ หรือปิ้งย่างต่าง ๆ เวลามีใครสักคนใช้ตะเกียบคู่เดิม คีบหมูดิบไปปิ้ง และคีบมาใส่จานตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคดังกล่าวจะดูเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว โรคไข้หูดับคืออะไร โดยวันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ให้ทุกคนได้ทราบกัน

โรคไข้หูดับ คืออะไร ?

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินหายใจและในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการรับประทานเนื้อหมู หรือเลือดของหมูที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หรือการสัมผัสโดยตรงกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมู

โรคไข้หูดับ มีอาการอย่างไร ?

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยใน 3 วัน โดยมักมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทําให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบได้ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อสามารถลุกลาม ทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึงไปจนถึงหูหนวก กว่าร้อยละ 40 ของผู้ที่ติดเชื้อนี้จะสูญเสียการได้ยินถาวร อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีไข้ และ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หูดับของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 11 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายงานผู้ป่วย 19 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ อายุ 55 – 64 ปี และอายุ 45 – 54 ปีตามลำดับ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และทำงานบ้าน โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2565) พบผู้ป่วยรวม 386 ราย เสียชีวิต 9 ราย โดยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะพบจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น

โรคไข้หูดับ สามารถป้องกันได้อย่างไร ?

  • ไม่รับประทานหมูที่ป่วย-ตายจากโรค และเลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
  • เลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ โดยให้ผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส
  • การประกอบอาหาร ควรแยกภาชนะและอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและสุกออกจากกัน เช่น เขียง จาน รวมทั้งไม่ควรใช้เขียงหมูดิบในการหั่นผักที่ใช้ทานสด ๆ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว
  • ผู้ที่เลี้ยงหมู ผู้ประกอบอาหาร ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานที่สัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมู หลีกเลี่ยงการจับหมูที่ตายด้วยมือเปล่า ล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัส หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดก่อน เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากหมูที่ป่วย
  • ผู้ที่จำหน่าย ควรรับเนื้อหมูมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน เก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10°C และทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย

หากมีอาการเสี่ยง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหารให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้

ใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ

จากข้อมูลโดยกรมควบคุมโรค พบว่า ในปีนี้มีแนวโน้มที่จะพบจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ ที่มีการรีวิวกินอาหารดิบและพฤติกรรมดื่มสุราร่วมกับอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น เนื้อหมูสด เนื้อวัวสด ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย แหนมดิบ เป็นต้น รวมถึงปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร ประชาชนจึงควรระมัดระวังการกิน การประกอบอาหารและควรรับประทานอาหารปรุงสุกที่ถูกสุขลักษณะ

อ้างอิง: สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566)

บทความสุขภาพอื่น ๆ

ข่าวสุขภาพ

กรมอนามัย แนะ เริ่มต้นป้องกัน “โรคมะเร็ง” ด้วยตนเอง เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และตรวจคัดกรอง

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันโรคมะเร็งต้วยตนเองที่ดี

ข่าวสุขภาพ

กรมการแพทย์ แนะ วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของเรา เนื่องด้วย PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ข่าวสุขภาพ

กรมการแพทย์ เตือน สัญญาณโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หากพบ ควรพบแพทย์ทันที อันตรายถึงชีวิต

ปัจจุบัน คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากที่สุด เป็นอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง โดยจากสถิติพบว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 21,700 ราย/ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ