กรมอนามัย แนะ เริ่มต้นป้องกัน “โรคมะเร็ง” ด้วยตนเอง เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และตรวจคัดกรอง
ข่าวสุขภาพ
โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันโรคมะเร็งต้วยตนเองที่ดี
ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง โรคมะเร็ง
- เลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก
- เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง: เสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
- เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม: เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
- เลี่ยงอาหารที่ใส่ดินประสิว หรือสารกันเสีย (เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก เบคอน แฮม กุนเชียง แหนม): เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้
- เลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด: เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี เพราะอาจปนเปื้อนพยาธิใบไม้หรือสารพิษจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด
- เลี่ยงการรับมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ สารเคมี (เช่น บริเวณที่มีการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน รวมถึงช่วงเวลาที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศสูง) เลี่ยงการได้รับแสงแดดจัดหรือแสงแดดโดยตรง โดยไม่ได้รับการป้องกันนานเกินไป: เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากความร้อนสูงและรังสียูวีเป็นอันตรายต่อเซลล์ ควรป้องกันโดยเลี่ยงการตากแดดในเวลาแดดจัดนาน ทาครีมกันแดด สวมใส่เสื้อผ้า หรืออุปกรณ์กันแดดที่เหมาะสม
ตรวจสุขภาพ/คัดกรองมะเร็ง ช่วยป้องกัน-รักษามะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เราสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งด้วยตนเองได้ ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป หรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง ได้แก่:
- มะเร็งเต้านม: แนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองโดยคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และการทำแมมโมแกรม (Mammogram)
- มะเร็งปอด: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ที่สูบบุหรี่วันละประมาณ 1 ซอง มาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี หรือหยุดสูบบุหรี่ไม่เกิน 15 ปี คัดกรองโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดรังสีปริมาณต่ำ
- มะเร็งลำไส้ใหญ่: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีอายุตั้งแต่ 45 – 50 ปี คัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจเลือดคัดกรองมะเร็ง เป็นต้น
- มะเร็งต่อมลูกหมาก: แนะนำให้ผู้ชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป คัดกรองโดยการตรวจเลือด ดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
- มะเร็งตับ: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบหรือคนที่มีเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ตรวจคัดกรองโดยการอัลตราซาวด์ท้องช่วงบน และการตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP)
- มะเร็งช่องปาก: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูแลเหงือก ฟัน และความผิดปกติในช่องปาก หรือสังเกตรอยโรคด้วยตนเอง เป็นต้น
เริ่มต้นป้องกัน “โรคมะเร็ง” ด้วยตนเอง
มะเร็ง เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดหรือเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ตลอดจนตรวจสุขภาพ และตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพ และทำการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งหากมีศูนย์มะเร็งใกล้บ้าน เช่น คุณอยู่ศรีสะเกษ ก็มีศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ก็จะยิ่งทำให้การรักษาทันท่วงที ที่สำคัญ เราควรดูแลสุขภาพโดยง่าย ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดหรือเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อ้างอิง: กรมอนามัย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566)
บทความสุขภาพอื่น ๆ
ข่าวสุขภาพ
กรมควบคุมโรค ย้ำ “กินหมูดิบ เสี่ยงหูดับ” แนะประชาชน กินอาหารปรุงสุก ถูกหลักอนามัย
“หูดับ” หรือ “โรคไข้หูดับ” อาจเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในร้านหมูกระทะ หรือปิ้งย่างต่าง ๆ เวลามีใครสักคนใช้ตะเกียบคู่เดิม คีบหมูดิบไปปิ้ง และคีบมาใส่จานตัวเอง
ข่าวสุขภาพ
กรมการแพทย์ แนะ วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5
ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของเรา เนื่องด้วย PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ข่าวสุขภาพ
กรมการแพทย์ เตือน สัญญาณโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หากพบ ควรพบแพทย์ทันที อันตรายถึงชีวิต
ปัจจุบัน คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากที่สุด เป็นอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง โดยจากสถิติพบว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 21,700 ราย/ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ