Header

mark

เจ็บ แน่นหน้าอก สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ”

06 พฤศจิกายน 2566

avatar เขียนโดย : นพ.เดชชาติ เงินจันทร์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพิษณุเวช

blog

          อาการเจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ปวดร้าวที่แขนหรือไหล่ด้านหลัง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่!! ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ในอดีตมักพบมากในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบภาวะนี้ในผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเพราะมักไม่มีอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ก็มีอาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่ชัดเจนแสดงอาการดังกล่าวจึงมาพบแพทย์

ทำความรู้จักกับ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ”


          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลภายในหลอดเลือด ซึ่งสร้างคราบไขมันไปเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ปิดกั้นให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงเรื่อย ๆ และสุดท้ายอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มี 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง 

  • ชนิดเฉียบพลันอาจทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงว่านานเท่าไหร่ ดังนั้น จึงต้องรีบนำคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหรืออย่างช้าภายในเวลา 6-12 ชั่วโมงหลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั้งแรก 
  • ชนิดเรื้อรังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะมีอาการแน่นบริเวณกึ่งกลางอกแบบเป็นๆ หายๆ มักสัมพันธ์กับการใช้พละกำลัง เช่น การเดินเร็ว การออกกำลังกาย หรือการขึ้นบันไดก็จะทำให้เกิดอาการแน่นบริเวณทรวงอกได้ แต่พอได้นั่งพักอาการก็จะหายไป

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • เพศและอายุ โดยเฉพาะเพศชายจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า เพศชายมักเกิดในอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิงจะเกิดในวัยหมดประจำเดือน อายุ 50-55 ปีขึ้นไป (แต่ในปัจจุบันพบในผู้ป่วยอายุน้อยมากขึ้น เกิดจากฟฤติกรรมการใช้ชีวิตผิด ๆ )
  • มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบของคนในครอบครัว มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากกว่าคนอื่น
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง โอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะเพิ่มขึ้นตามระดับคอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น
  • โรคความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูงทำให้ผนังหลอดเลือด เสื่อมเร็ว
  • เบาหวาน หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง เสื่อมเร็วขึ้น
  • โรคอ้วน โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คนอ้วนที่มี BMI หรือ ดัชนีมวลกาย มากกว่าหรือเท่ากับ 40 จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม อาหารที่มีไขมันสูง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การมีภาวะเครียด

อาการที่บ่งบอกของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


     โดยส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่แสดงอาการ  แต่ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันค่อนข้างมากจะมีอาการดังนี้

  • อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ หรือมีแรงดันจำนวนมากที่บริเวณกลางอกหรือที่อกข้างซ้าย โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วก็หาย แต่จากนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นอีก
  • อาการปวดร้าวไปที่ไหล่ แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม
  • อาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง
  • อาการคลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน

หากมีอาการตามที่กล่าวมานี้ให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการตรวจ

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • รักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์,ลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มจัด,เพิ่มการรับประทานผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานจัด,ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอและเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • รักษาด้วยการทานยา กรณีนี้คือคนไข้มีหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน ซึ่งยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจจะมีหลายชนิด คนไข้จะต้องเข้ามาพบอายุรแพทย์ทางด้านโรคหัวใจเพื่อปรับยาตลอดระยะเวลาในการรักษา และผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง
  • ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การรักษาประเภทนี้มักเกิดขึ้นในผู้มีภาวะหัวใจวายฉุกเฉินหรือในกรณีที่หลอดเลือดอุดตันมาก  ซึ่งใช้การสอดท่อพร้อมบอลลูนเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจึงทำการสูบลมให้บอลลูนพองตัวขึ้นเพื่อช่วยผลักไขมันที่อุดตันออกจากหลอดเลือดหัวใจ  โดยหลังการรักษา คนไข้จะต้องมีการรับประทานยา ในกลุ่มที่เป็นยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้ขดลวดตัน อยู่ในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปีอย่างเคร่งครัด ซึ่งถ้าทานยาไม่ครบตามที่คุณหมอสั่ง ก็อาจจะส่งผลให้เส้นเลือดตีบตันอีกได้ วิธีการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนถือเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด
  • การผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ วิธีนี้คุณหมอจะเลือกใช้ เมื่อพิจารณาแล้วว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหลายตำแหน่ง  หรือในแง่เทคนิคไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้

โรคหลอดเลือดหัวใจถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่อันตราย ดังนั้นอย่าชะล่าใจ หากสงสัย หรือมีความเสี่ยงสูงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา ตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

บทความโดย : นพ.เดชชาติ เงินจันทร์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566 

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

“ภาวะไขมันในเลือดสูง”  ภัยเงียบตัวร้ายเสี่ยงหลายโรค

07 พฤศจิกายน 2566

“ภาวะไขมันในเลือดสูง” ภัยเงียบตัวร้ายเสี่ยงหลายโรค

“ภาวะไขมันในเลือดสูง” เป็นหนึ่งภัยเงียบต่อสุขภาพที่นำไปสู่โรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจภาวะไขมันในเลือดสูง