Header

mark

“ภาวะไขมันในเลือดสูง” ภัยเงียบตัวร้ายเสี่ยงหลายโรค

07 พฤศจิกายน 2566

avatar เขียนโดย : นพ.วศิน อวิรุทธ์นันท์ แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ

blog

          “ภาวะไขมันในเลือดสูง” เป็นหนึ่งภัยเงียบต่อสุขภาพที่นำไปสู่โรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจภาวะไขมันในเลือดสูง  ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม  จะทราบก็ต่อเมื่อเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันแต่ละชนิด  ถ้าอยากห่างไกลจากโรคร้ายที่คุกคามชีวิต ควรทำความเข้าใจพร้อมทั้งวิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะไขมันในเลือดสูงไปด้วยกัน

ทำความรู้จักกับภาวะไขมันในเลือดสูง


       “ไขมันในเลือดสูง” (Dyslipidemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีความไม่สมดุลของระดับไขมันในกระแสเลือด อาจเป็นระดับโคเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ อุดตันเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต เป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

ชนิดของไขมันในเลือด

  • โคเลสเตอรอล (Cholesterol) ระดับปกติของโคเลสเตอรอลในเลือดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งประกอบด้วย

- โคเลสเตอรอลชนิดดี หรือ เอชดีแอล (High density lipoprotein -HDL) ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

- โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ แอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

  • ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้มีความบกพร่องในการเผาผลาญไขมัน
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
  • ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์
  • การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ จำพวกอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ เนย ไข่ เป็นต้น
  • มีภาวะเครียด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ใครบ้างควรตรวจไขมันในเลือด?

  • ผู้มีอายุ 35 ปีขึ้นไป 
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง BMI >30
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ เช่น โรครูมาตอยด์, SLE, โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง


1.จำกัดอาหารและเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม
       o    ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน, เครื่องในสัตว์, หอยนางรม, ปู, ปลาหมึก
       o    ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว แทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ถั่วต่าง ๆ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา 
       o    เน้นการปรุงประกอบอาหารด้วยต้ม นึ่ง อบ ตุ๋น ยำ แทนการทอด ผัด 
2.งดสูบบุหรี่
3.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
4.ควบคุมน้ำหนักตัวให้ได้มาตราฐาน
5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และช่วยเพิ่ม HDL ได้ดี ควรทำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 30-40 นาที 
         

          ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นภัยเงียบที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ โรคนี้จะไม่มีอาการที่ชัดเจนผู้ป่วยจะทราบเมื่อตรวจสุขภาพเพื่อเช็คระดับไขมัน อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ด้วยการควบคุมการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคตได้

บทความโดย : นพ.วศิน อวิรุทธ์นันท์  แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566 

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

เจ็บ แน่นหน้าอก สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ”

06 พฤศจิกายน 2566

เจ็บ แน่นหน้าอก สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ”

อาการเจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ปวดร้าวที่แขนหรือไหล่ด้านหลัง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่!!