Header

mark

วัณโรค คืออะไร รักษายังไง ภัยร้ายใกล้ตัวที่คุกคามคุณภาพชีวิต

07 พฤศจิกายน 2566

avatar เขียนโดย : พญ.นิชฌา เหลืองด่านสกุล อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลพิษณุเวช

blog

          วัณโรคเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายนับว่าเป็นกลุ่มโรคที่อันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมากเพราะเมื่อติดเชื้อจะมีผลต่อปอด หรือที่เรียกว่า "วัณโรคปอด"  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางของสาธารณสุขประเทศไทย องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีปัญหาภาระวัณโรค 
          วัณโรคเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดพบร้อยละ 80 ซึ่งโดยปกติคนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง และยังขาดความเข้าใจในเรื่องวัณโรค ซึ่งโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ลองมาศึกษาอาการของโรคเพื่อไว้สังเกตและป้องกันตัวเองกันหน่อย

วัณโรค คืออะไร


    วัณโรคเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อที่อันตรายร้ายแรงที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ เกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) สามารถแพร่กระจายได้โดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ   ที่ออกมาจากผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคในปอด กระจายอยู่ในอากาศและตกลงสู่พื้น โดยผู้ที่สูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้
        นอกจากการติดเชื้อที่ปอดแล้ว เชื้ออาจจะกระจายไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ เยื้อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น

วัณโรค เป็นเภัยใกล้ตัว ที่ถ้าปล่อยไว้อันตราย

สังเกตอาการเตือนวัณโรค


      เมื่อเริ่มป่วยในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนก็จะยิ่งมีอาการไอหนักมาก ทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหารด้วย

  • อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ บางรายที่ไอมาก ๆ จะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดง ๆ หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง
  • ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า

ถ้ามีอาการอย่างน้อย 2 อาการขึ้นไป รีบตรวจหาวัณโรคที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น คนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัด หรือ ผู้ป่วยเอดส์
  • ผู้ติดสารเสพติด หรือ แอลกอฮอล์
  • คนจรจัด หรือ คนขาดสารอาหาร
  • คนที่อาศัยอยู่ในที่แออัด หรือ สถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี
  • ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล หรือ ญาติที่ดูแล
  • เด็กทารก หรือ ผู้สูงอายุ
  • เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง

ยิ่งเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งต้องระวังเสี่ยงเรื่องปอด

ป้องกันไว้ก่อน ถ้าไม่อยากเป็นวัณโรค

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่สาธารณะ และไม่ใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค หากตนเองมีภูมิต้านทานต่ำ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค
  • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยควรตรวจเอกซเรย์ปอด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • รีบไปพบแพทย์ทันที หากสงสัยว่ามีอาการเสี่ยง

การรักษาวัณโรค


        ปัจจุบันวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาการรักษาอย่างน้อย 6 เดือน ขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรค แต่มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้เช่นกันหากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามกำหนด

  • ผู้ป่วยวัณโรคมีระยะเวลาในการรักษาทั้งหมดอย่างน้อย 6 เดือน โดย 2 เดือนแรกต้องรับประทานยา 4 ชนิด เช่น isoniazid, rifampicin, pyrazinamide, ethambutol
  • เมื่อรักษาครบ 2 เดือนแพทย์จะตรวจเสมหะหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำ หากมีการตอบสนองที่ดีแพทย์จะลดยาเหลือ 2 ชนิด และให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือน 
  • และจะต้องดูแลให้พักผ่อนและให้อาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไวตามิน เพื่อช่วยเพิ่มความต้านทานโรค

         วัณโรคเป็นโรคที่มีอาการทุกข์ทรมานจากการไอเรื้อรังที่คุกคามคุณภาพชีวิตและสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุ อาจจะเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเช่น โรคไขมันในเลือดสูง ดังนั้น เมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นวัณโรคหรือเสี่ยงวัณโรค ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีด้วยการเอกซเรย์ปอดโดยไม่ต้องรอให้มีอาการเพื่อวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงที

 

บทความโดย : พญ.นิชฌา  เหลืองด่านสกุล อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลพิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566