Header

mark

โรคอ้วน เป็นแบบไหน เป็นแล้วเสี่ยงหลายโรค เราเป็นโรคอ้วนหรือเปล่า?

13 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : พญ. อันธิกา จันทร์ลือชัย อายุรแพทย์ สาขา อายุรศาสตร์โรคไต .รพ.พริ้นซ์ สกลนคร

blog

ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็น “โรคอ้วน” เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน ที่นั่งเกือบตลอดทั้งวันและไม่ได้ออกกำลัง หลายคนอาจจะมองว่าการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นจนเรียกว่า “อ้วน”  คือเรื่องปกติส่งผลแค่บุคลิคภายนอกเท่านั้น แต่ทราบหรือไม่? ว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วน้ำหนักเยอะแค่ไหนจึงจะเรียกว่าเป็นโรคอ้วน บทความนี้จะมาแบ่งกันข้อมูลของโรคอ้วนให้ทราบกัน 

ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็น “โรคอ้วน” เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โรคอ้วนคืออะไร?

โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ( Overweight ) คือ โรคเรื้อรังที่มีไขมันมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญนำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ

โรคอ้วนที่ผลร้ายต่อสุขภาพมีอยู่ 2 ประเภท คือ

  • อ้วนลงพุง เป็นการสะสมของไขมันบริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่นๆ
  • อ้วนทั้งตัว  คือการมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยมิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ

 

ไขข้อสงสัย แบบไหนเรียกอ้วน?

วิธีวัดไขมันมีหลายรูปแบบ โดยที่นิยมกันคือ การวัดจากดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index – BMI และการตรวจวัดรอบเอว ซึ่งวัดได้จากการนำค่าน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง

โดยทั่วไปแล้ว ควรมีค่า BMI อยู่ที่ระหว่าง 18.5-22.9 kg/m2 หากมากหรือน้อยกว่านี้ จะเกิดภาวะทุพโภชนาการและโรคต่างๆ

ค่า BMI < 18.5 – 22.9 kg/m² เรียกว่า “ปกติ”

ค่า BMI 23.0 – 24.9 kg/m² เรียกว่า “น้ำหนักเกิน”

ค่า BMI > 25 kg/m² เรียกว่า “โรคอ้วน”

โรคนี้เป็นเรื้อรังที่มีไขมันมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญนำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ

 

โรคอ้วนเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนจาก ปัจจัยภายนอก ซึ่งมักเกิดจากพฤตจิกรรมของเราเอง ได้แก่

  • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาหรือรับประทานอาหารนอกเวลา 
  • รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ใยอาหารน้อย เนื้อติดมัน ไขมัน แป้ง น้ำและขนมหวาน
  • ทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น นั่งทำงานเป็นเวลานาน นอนเล่นมือถือเป็นเวลานาน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • นอนหลับไม่เพียงพอ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนจาก ปัจจัยภายใน ได้แก่

  • ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์
  • สภาพจิตใจ อารมณ์ ภาวะเครียด
  • กรรมพันธุ์
  • โรคประจำตัวที่มีก่อนจะเป็นโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ 
  • อายุ (อายุมากขึ้นจะมีการใช้พลังงานน้อยลงได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง เกิดโรคอ้วนได้ง่ายขึ้น)

 

โรคอ้วนทำให้เสี่ยงหลายโรค

โรคอ้วนเสี่ยงหลายโรค

โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจมาพร้อมกับโรคอ้วน บางโรคอาจจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจน เช่น เหนื่อยง่าย ร้อนง่าย เหงื่อออกง่าย หายใจติดขัด นอนกรน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากลำบาก  แต่ในขณะที่บางโรคก็อาจไม่แสดงอาการภายนอกแต่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาเช่น  

  • โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไขมันเกาะตับ
  • โรคหัวใจ
  • โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคมะเร็งต่างๆ
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ
  • ปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ปวดข้อ ข้อเสื่อมก่อนวัย
  • โรคผิวหนัง เช่น สิว ขนดก ผิวหนังติดเชื้อ มีกลิ่นตัว เป็นต้น

 

ป้องกันโรคอ้วนได้ง่ายๆ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพราะจะช่วยลดการสะสมของพลังงานในร่างกายได้เป็นอย่างดี
  • ควรจำกัดปริมาณการทานอาหารในแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการควบคุมอาหารให้แก่ร่างกายได้มีน้ำหนักที่อยู่ในระดับปกติ
  • ลดอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด
  • ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารประเภท “ทอด หวาน มัน เค็ม” แล้วปรับเปลี่ยนไปกินอาหารประเภท “ต้ม ปิ้ง นึ่ง ย่าง” ให้มากขึ้นแทน
  • ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หมั่นจิบน้ำเรื่อย ๆ กระจายไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม
  • ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์สูง เช่น น้ำอัดลม (1 กระป๋องมีน้ำตาล 7 – 12 ช้อนชา) และเครื่องดื่มชาเขียว (1 ขวดมีน้ำตาล 8 – 14 ช้อนชา)
  • นอนหลับพักผ่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 22.00 – 06.00 น. โดยหลับสนิทติดต่อกันนาน เพราะการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ จะทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายเสียสมดุล
  • เมื่อเริ่มรู้สึกว่าน้ำหนักเพิ่มมากจนเกินไป ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป

โรคอ้วนเป็นที่มาของโรคต่างๆ บางโรคส่งผลเสียต่อร่างกายจนเเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลย เพราะฉะนั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช็คค่าไขมันในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะทำให้ลดความเสี่ยงก่อนเป็นโรคอ้วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ  แต่สำหรับผู้มีปัญหาน้ำหนักเพิ่มขึ้นสูงมากๆ และทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่สามารถลดน้ำหนักได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม

 

บทความโดย : พญ. อันธิกา  จันทร์ลือชัย อายุรแพทย์ สาขา อายุรศาสตร์โรคไต .รพ.พริ้นซ์ สกลนคร

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566