Header

mark

‘โรคเบาหวาน’ แท้จริงแล้ว ‘ไม่หวาน’ แถมสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ อาการและการรักษาเบาหวาน

28 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : พญ.ดารกา รัชฎาภรณ์กุล, รพ.พิษณุเวช

blog

เราอาจจะได้ยินคนพูดว่า “กินหวานขนาดนี้ เดี๋ยวก็เป็นเบาหวานหรอก” ซึ่งถ้าจะพูดว่า โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากการทานหวาน ก็อาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะว่าแค่การทานหวานเพียงอย่างเดียว ไม่อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานได้ อีกทั้งการเป็นโรคเบาหวาน อาจจะไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้ด้วย

โรคเบาหวาน คืออะไร ?

โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายต่อฮอร์โมนที่ชื่อว่า “อินซูลิน” แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่:

  • การหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนลดลง
  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน

โดยความบกพร่องดังกล่าวนี้ มีผลให้การดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ร่างกายลดลง จนมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสะสมเป็นปริมาณมาก และเป็นผลให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลง และเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ตามองไม่ชัด เท้าเป็นแผล ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจอันตรายถึงขั้นต้องทำการตัดอวัยวะ เป็นต้น 

กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน คือใคร

 

กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน คือใครบ้าง ?

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 หรือมีรอบเอวมากกว่ามาตรฐาน โดยผู้ชายรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม. ผู้หญิงรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม.)
  • ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง
  • สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่

อาการของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน มีอาการอย่างไร ?

ในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดง ทำให้ไม่ได้เข้ามาพบแพทย์และส่งผลให้เสียโอกาสในการรักษาในตอนต้นไป จึงเป็นเหตุให้เราควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือตั้งตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมาได้สักระยะหนึ่งแล้วมักจะมีอาการแสดงดังต่อไปนี้:

 

  • รู้สึกกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
  • รับประทานอาหารมากขึ้นแต่กลับน้ำหนักลด
  • มีปัญหาด้านการมองเห็น ได้แก่ ตาพร่าลาย เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
  • มีแผลเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ

เบาหวานในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดง ทำให้ไม่ได้เข้ามาพบแพทย์และส่งผลให้เสียโอกาสในการรักษาในตอนต้นไป

โรคเบาหวาน รักษาอย่างไร ?

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในปัจจุบัน แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้ด้วยการ:

 

  • รักษาแบบใช้ยา: แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยารับประทานและยาฉีด ซึ่งแต่ละแบบมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยยารักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันมีผลข้างเคียงน้อยและสะดวกในการใช้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะสม  
  • รักษาแบบไม่ใช้ยา: คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุมอาหาร และออกกำลังกาย เช่น:
    • รับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ ทำให้ดูดซึมน้ำตาลช้า อิ่มนาน เช่น ผักใบเขียว ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วยน้ำว้า ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ วุ้นเส้น เป็นต้น
    • รับประทานน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
    • ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

 

การรักษาแบบใช้ยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตและไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ของคนปกติมากที่สุด รวมถึงเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีเพื่อเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเป็นระยะ ๆ

 

บทความโดย : พญ.ดารกา รัชฎาภรณ์กุล, รพ.พิษณุเวช, ต.ค.66

บทความสุขภาพอื่น ๆ

ข่าวสุขภาพ

กรมการแพทย์ แนะ วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของเรา เนื่องด้วย PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

บทความทางการแพทย์

โรคพาร์กินสันเกิดจากอะไร และสามารถรักษาได้อย่างไร

28 มีนาคม 2567

โรคพาร์กินสัน รู้ทันก่อนสาย อาการและการรักษา (Parkinson's disease)

โรคพาร์กินสัน หรือ ‘โรคสั่นสันนิบาต’ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีชื่อคุ้นหูสำหรับใครหลายคน อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่า จริง ๆ แล้ว โรคพาร์กินสันเกิดจากอะไร และสามารถรักษาได้อย่างไร

บทความทางการแพทย์

การฉีดวัคซีน HPV ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้

28 มีนาคม 2567

‘มะเร็งปากมดลูก’ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของหญิงไทย คัดกรองก่อน ป้องกัน-รักษาได้

มะเร็งปากมดลูก เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบอันดับต้น ๆ ที่พรากชีวิตหญิงไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคดังกล่าวจะฟังดูอันตราย อีกทั้งยังถูกตรวจวินิจฉัยพบได้บ่อยแต่มะเร็งปากมดลูกมักถูกมองข้ามโดยกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น