Header

mark

โรค PTSD คืออะไร เกิดจากอะไร โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ

13 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : พญ.ทินารมภ์ ชัยพุทธานุกูล, จิตแพทย์, รพ.พิษณุเวช

blog

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญในปัจจุบันที่เรามักจะเห็นผ่านสื่อบ่อยๆ หลายคนติดตามจนมีอารมณ์ร่วมไปด้วย แต่อาจไม่ทราบว่าการเสพข่าวที่มีความหดหู่ สะเทือนอารมณ์มากเกินไป อาจส่งผลเสียกับสภาพจิตใจ จนเสี่ยงเป็นโรค PTSD หรือ โรคที่เกิดความกดดันต่อจิตใจได้ ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องรักษาและเยียวยาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้ 

ทำความรู้จักกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) คืออะไร

“โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ” หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) คือ ความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น อยู่ในเหตุวินาศกรรม ภัยพิบัติ การก่อการจลาจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น หรือบางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง แต่ว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในสถาณการณ์นั้นๆ หรืออาจเป็นผู้ที่เสพข่าวสารทางช่องทางต่างๆ แล้วรู้สึกตื่นกลัวตามไปด้วย จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา

โรค PTSD คือความผิดปกติทางจิตใจหลังเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง

PTSD มีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ

  1. เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน (Re-experiencing) เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วผุดขึ้นมาซ้ำๆอยู่บ่อยๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมาจนตกใจกลัว (Flash Back)
  2. คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจากประสบเหตุนั้น ๆ หลีกเลี่ยงที่จะคิดและรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ไม่กล้าเผชิญกับสิ่งที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
  3.  มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood) คือ การไม่มีอารมณ์ในทางบวก ไม่มีความสุขและไม่สนใจที่จะร่วมกิจกรรมนั้นๆ การรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น มีความเชื่อและคาดหวังที่เป็นไปในทางลบอย่างต่อเนื่อง มีการตีความขยายออกไปในทางลบ บางรายมีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น ส่งผลให้มีอารมณ์ฝังใจในทางลบ รู้สึกโกรธ อับอาย หวาดกลัวและรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา 
  4. อาการตื่นตัวมากเกินไป (Hyperarousal symptoms) เป็นอาการคอยจับจ้อง คอยระวังตัว ตื่นตัว และมักมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย รวมถึงสะดุ้งและผวาง่ายขึ้นเวลาอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง ส่งผลให้ขาดสมาธิ นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือชอบสะดุ้งตื่นในขณะที่นอนหลับ

ภาวะแทรกซ้อนจาก โรค PTSD มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรค PTSD

เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย และทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์ไปด้วย 

  • โรคที่มีผลทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว โรควิตกกังวล เป็นต้น
  • พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การหันมาใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาจทำร้ายตนเอง เป็นต้น
  • อาการทางร่างกาย เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดหน้าอก เป็นต้น

วิธีการรักษาโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)

การรักษา PTSD 

สำหรับโรคนี้สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ การใช้ยาและการบำบัดทางจิตใจร่วมด้วย 

การให้ยาผู้ป่วยจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อการรักษาทางจิตเวชไม่สามารถแก้ไขอาการได้ ยาที่ใช้จะเป็นยาประเภทเดียวกับโรคซึมเศร้า เป็นยารักษาต่อเนื่องระยะยาว ออกฤทธิ์หลังจากใช้ไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือรู้สึกตื่นกลัวแบบกระทันหัน จะมีการให้ยาระงับประสาทประเภท diazepam ร่วมด้วย แต่ส่วนมากมักจะไม่ค่อยถูกใช้โดยไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นยาที่ทำให้เกิดอาการเสพติดและต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นไปเรื่อยๆ

 

การบำบัดทางจิตใจคือการทำพฤติกรรมบำบัดให้ผู้ป่วยสงบลง ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ มีการพูดคุยกับจิตแพทย์ ฝึกรับมือกับความเครียด เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เกิดจากความทรงจำเลวร้ายในอดีตด้วยตัวเองโดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจให้แข็งแรง ที่สำคัญคือการให้กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง เพื่อให้ก้าวผ่านโรค PTSD ไปได้ 

 

โรค PTSD เป็นโรคที่เกิดมากขึ้นในปัจจุบันจากการเสพข่าวอย่างต่อเนื่อง หมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอหากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าตยเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของ PTSD ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาต่อไป

 

บทความโดย : พญ.ทินารมภ์ ชัยพุทธานุกูล, จิตแพทย์, รพ.พิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566