กรวยไตอักเสบคืออะไร อาการเป็นยังไงและการรักษาทำอย่างไร
26 มีนาคม 2567
‘กรวยไตอักเสบ’ โรคร้ายที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารรสเค็ม
เมื่อพูดถึงโรคไต หลายคนอาจมีชุดความคิดที่ว่า เกิดจากการรับประทานอาหารรสเค็มจัด อย่างไรก็ตาม กรวยไตอักเสบ เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมักถูกตรวจวินิจฉัยพบได้มากกว่าในเพศหญิง โดยวันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาเจาะลึกรายละเอียดของโรคดังกล่าว ให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
กรวยไตอักเสบ คืออะไร ?
กรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่กรวยไต สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่:
- กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต เชื้อที่พบได้บ่อย เช่น อีโคไล ซูโดโมแนส และเคล็บซิลลา เป็นต้น กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการแสดงที่ชัดเจนและรุนแรง แต่สามารถรักษาหายได้ภายใน 2 - 3 สัปดาห์ มักถูกตรวจวินิจฉัยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- กรวยไตอักเสบเรื้อรัง: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต และความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่มีอาการแสดง แต่สามารถตรวจวินิจฉัยพบเชื้อแบคทีเรีย และเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะได้ โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีการอักเสบของกรวยไตเป็นระยะเวลานาน เป็นเหตุให้เซลล์ของไตถูกทำลาย และนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ในที่สุด
กรวยไตอักเสบ มีอาการอย่างไร ?
- มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง
- คลื่นไส้ และอาจมีอาเจียนร่วมด้วย
- ปัสสาวะสีขุ่น อาจข้นเป็นหนอง หรือมีเลือดปน
- ปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย
กรวยไตอักเสบ รักษาได้อย่างไร ?
- รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
- ฉีดยาปฏิชีวนะเจนตามัยซิน เข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง ในปริมาณครั้งละ 40 - 80 มิลลิกรัม ทุก ๆ 8 - 12 ชั่วโมง
- เมื่อรักษาหายแล้ว ควรเข้ารับการตรวจปัสสาวะทุก ๆ 3 - 4 เดือน ตามแพทย์นัด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะไตวาย และภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
กรวยไตอักเสบ ป้องกันได้ เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- เลี่ยงการอั้นปัสสาวะ
- ดื่มน้ำ 8 - 10 แก้ว/วัน เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย
- ในเพศหญิง หลังทำการอุจจาระควรทำความสะอาดด้านหน้า ก่อนทำความสะอาดทวารหนัก
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศ และปัสสาวะทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์
- หากระบบปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะขัด สีขุ่น ควรเข้าพบแพทย์ทันที
บทความโดย : พญ. อันธิกา จันทร์ลือชัย ,อายุรแพทย์สาขาอายุรศาสตร์โรคไต, รพ.พริ้นซ์ สกลนคร, ต.ค.66
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
06 พฤศจิกายน 2566
เจ็บ แน่นหน้าอก สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ”
อาการเจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ปวดร้าวที่แขนหรือไหล่ด้านหลัง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่!!
บทความทางการแพทย์
29 มีนาคม 2567
‘ความดันโลหิตสูง’ ต้นตอโรคร้าย ตรวจวินิจฉัยพบ ต้องรีบรักษาที่ต้นเหตุ
โรคความดันโลหิตสูงนี้ เป็นต้นตอของโรคร้ายมากมาย ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพ
บทความทางการแพทย์
13 มีนาคม 2567
ฮีทสโตรค (Heat Stroke) คืออะไร อาการเป็นอย่างไร ภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต
“ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีหน้าร้อนทั้งปี ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถลดอุณหภูมิกายลงได้ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตได้สูงมาก”