
‘ปอดอุดกั้นเรื้อรัง’ รักษาหายขาดไม่ได้ แต่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ช่วยป้องกัน-ฟื้นฟูได้
28 มีนาคม 2567

‘โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง’ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มของโรคปอดอักเสบเรื้อรังที่ถูกตรวจวินิจฉัยพบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ตระหนักในวงกว้างในสังคมไทย วันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงอยากจะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้ทุกคนได้ทราบกัน
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง คืออะไร ?
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกิดมาจากการอักเสบหรือเสียหายของ หลอดลม เนื้อปอด และหลอดเลือดปอด อันเนื่องมาจากการสูดดมแก๊สหรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดลมค่อย ๆ ตีบลง หรือถูกอุดกั้น โดยไม่อาจฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อีก โดยกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถแยกออกได้เป็นโรคย่อย ๆ ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสองโรคที่มักถูกตรวจวินิจฉัยพบร่วมกัน ตลอดจนโรคหอบหืด และโรคหลอดลมพอง
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีอาการอย่างไร ?
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มแรกของโรค แต่จะเริ่มมีอาการที่สังเกตได้ เมื่อปอดถูกทำลายมากขึ้น โดยอาการที่เป็นสัญญาณของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่:
- อาการไอเรื้อรัง อาจรุนแรงถึงขั้น ไอเป็นเลือด
- มีเสมหะมาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน
- รู้สึกเหนื่อยหอบ หมดเรี่ยวแรง
- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด แน่นหรือเจ็บหน้าอก
- ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย ๆ
- อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง
เมื่ออาการของโรครุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักที่ลดลงอย่างมาก มีอาการเหนื่อยหอบมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ และในระยะท้ายของโรค มักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ภาวะหายใจวาย และหัวใจด้านขวาล้มเหลว
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง รักษาได้อย่างไร ?
‘โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้’
อย่างไรก็ตาม เราสามารถชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการของโรค ตลอดจนป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ โดยวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น ได้แก่:
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ
- รักษาด้วยยา เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ได้แก่ ยาขยายหลอดลม ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด และยาปฏิชีวนะ เพื่อลดอาการติดเชื้อ
- การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจนระยะยาว การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยกายภาพบำบัด การดูแลโภชนาการ และการดูแลสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย
- การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยยาและวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้
‘โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง’ สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง ตลอดจนป้องกันตัวเองจากมลพิษในอากาศและละอองสารเคมีต่าง ๆ และการตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
บทความโดย : นพ.เฉลิมพล รัตนอุดมวรรณา, รพ.พิษณุเวช
ข้อมูล ณ ต.ค.66
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
01 พฤศจิกายน 2566
สัญญาณเตือนโรคร้าย “มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”
ท้องผูกสลับท้องเสีย อาการที่ดูเหมือนจะปกติแต่รู้หรือไม่!! นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย
บทความประชาสัมพันธ์
ชวนติดตาม ”พาราลิมปิกเกมส์ 2024“ ที่เป็นมากกว่าเวทีการแข่งขันกีฬา คือการแสดงศักยภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางร่างกาย
“ร่างกายของเราไม่ได้พิการหรอก จริงๆสิ่งแวดล้อมรอบๆต่างหาก นั่นแหละที่พิการ” คำพูดจากผู้พิการที่บอกเล่าต่อกันมา เป็นคำพูดที่ชวนให้เราฉุกคิดถึงความแตกต่างและหลากหลายในเชิงกายภาพของมนุษย์ และหยั่งรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง 1 ในสิ่งที่จะสร้างการรับรู้ การมีตัวตนของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก็คือการมีพื้นที่และเวทีได้แสดงออกซึ่งความความสามารถ และได้รับการยอมรับ ซึ่งหนึ่งในเวทีด้านการกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ก็คือ พาราลิมปิกเกมส์ นั่นเอง
บทความทางการแพทย์
13 มีนาคม 2567
โรคอ้วน เป็นแบบไหน เป็นแล้วเสี่ยงหลายโรค เราเป็นโรคอ้วนหรือเปล่า?
ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็น “โรคอ้วน” เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน ที่นั่งเกือบตลอดทั้งวันและไม่ได้ออกกำลัง โรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้