Header

mark

โรคซึมเศร้า (Depression) รู้และเข้าใจ โรคทางจิตเวชใกล้ตัวที่เราวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ รู้ก่อน รับการรักษาได้ก่อน

26 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : พญ.ทินารมภ์ ชัยพุทธานุกูล,จิตเวช รพ.พิษณุเวช

blog

‘โรคซึมเศร้า’ โรคทางจิตเวชใกล้ตัวที่เราวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ รู้ก่อน รับการรักษาได้ก่อน

 

ในอดีต “โรคซึมเศร้า” อาจเป็นชื่อโรคที่ไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคนและถูกมองว่าเป็นเพียงภาวะอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความเครียดเท่านั้น โดยภาวะความเครียดนี้ มักตามมาด้วยคำถามยอดฮิต เช่น ทำงานหนักไปหรือเปล่า ? เรียนมากไปหรือเปล่า ? คิดมากไปหรือเปล่า ? 

 

เมื่อโรคซึมเศร้า ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ความเครียดชั่วคราว ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข และจะกลายเป็นปัญหาที่สังเกตได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อมันอันตรายเสียแล้ว โดยวันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า ให้ทุกคนได้ทราบกัน

 

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารในสมอง ไม่ใช่แค่เครียด

โรคซึมเศร้า คืออะไร?

โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย นั่นแปลได้ง่าย ๆ ว่า โรคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดมาจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถรักษาหายได้สนิทโดยการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

 

นอกจากผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความเครียดจากโรคนี้อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้การตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยจากสถิติพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20 - 24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ในปี 2561 อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่ามากขึ้นจนสังเกตได้ (อ้างอิง: กรมสุขภาพจิต)

สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายประเด็น

 

โรคซึมเศร้า มีสาเหตุมาจากอะไร ?

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากการเครียดจากสิ่งต่าง ๆ มากไป อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกัน โดยทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลกันของสารสื่อประสาท 3 ชนิด ได้แก่ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน 

 

ซึ่งความไม่สมดุลดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลและรักษาโดยจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

 

 

โรคซึมเศร้า มีอาการอย่างไร ?

อาการของโรคซึมเศร้ามีหลากหลายขึ้นกับบุคคล ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการที่เกี่ยวกับอารมณ์โดยทั่วไป ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง วิตกกังวล เครียด อาจเป็นอาการที่ส่งผลจากจิตใจมาสู่ร่างกาย เช่น นั่งไม่ติด สมาธิลดลง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

 

อาการของโรคซึมเศร้ามีอย่างไรบ้าง

 

สัญญาณของ โรคซึมเศร้า ที่เราสังเกตได้

  • รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  • เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมาก ๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
  • จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  • มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  • รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  • รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุก ๆ เรื่อง
  • ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  • คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ

วิธีการรักษา โรคซึมเศร้า ตามขั้นตอน

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปตามอาการและระดับความรุนแรง โดยเบื้องต้น แพทย์จะทำการวินัจฉัยก่อนว่าผู้ป่วยเข้าข่ายอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยเริ่มจากการสอบอาการทั่วไป อย่างเช่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นและระดับความรุนแรง การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กำลังใช้เพื่อรักษาอาการหรือโรคส่วนตัวอื่น ๆ รวมไปถึงข้อมูลปัจจัยภายนอกอย่างอื่น เช่น ประวัติครอบครัว 

 

โดยการประเมินดังกล่าว ซึ่งเป็นการประเมินอาการที่สังเกตได้ จะถูกทำไปพร้อมกับแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนจะนำผลมาประเมินในภายหลังว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยการใช้ยา หรือการรักษาด้วยการใช้จิตบำบัด

โรคซึมเศร้าตรวจวินิจฉัยเร็ว รักษาได้

จากสถิติซึ่งเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้บวกกับภาวะที่คนรอบตัวในสังคมเข้าข่ายของการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคนี้มันเข้าใกล้เรามากขึ้นกว่าที่เคย ดังนั้น เมื่อมีอาการเครียด รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีสมาธิ หรือมีภาวะที่คิดอยากฆ่าตัวตาย ให้เริ่มต้นจากการวินิจฉัยตนเอง หากมีความเป็นไปได้ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาหรือรักษาให้ทันท่วงที 

 

ข้อมูลโดย พญ.ทินารมภ์ ชัยพุทธานุกูล,จิตเวช รพ.พิษณุเวช

ข้อมูล ณ ตุลาคม .66

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

โรค PTSD คืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง

13 มีนาคม 2567

โรค PTSD คืออะไร เกิดจากอะไร โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ

การเสพข่าวที่มีความหดหู่ สะเทือนอารมณ์มากเกินไป อาจส่งผลเสียกับสภาพจิตใจ จนเสี่ยงเป็นโรค PTSD หรือ โรคที่เกิดความกดดันต่อจิตใจได้ ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องรักษาและเยียวยาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้ 

บทความทางการแพทย์

รู้ทัน 4 โรคต้อ

12 มีนาคม 2567

โรคต้อ คืออะไร 4 โรคต้อ “ภัยร้ายต่อดวงตา” รู้ทันก่อนสูญเสียการมองเห็น

ในวัยผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา มาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว เบลอ มองไม่ชัด ซึ่งส่วนมากก็จะพบว่าเป็นโรค “โรคต้อ” โรคนี้ถ้าหากปล่อยไว้อาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

บทความทางการแพทย์

“ภาวะไขมันในเลือดสูง”  ภัยเงียบตัวร้ายเสี่ยงหลายโรค

07 พฤศจิกายน 2566

“ภาวะไขมันในเลือดสูง” ภัยเงียบตัวร้ายเสี่ยงหลายโรค

“ภาวะไขมันในเลือดสูง” เป็นหนึ่งภัยเงียบต่อสุขภาพที่นำไปสู่โรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจภาวะไขมันในเลือดสูง