อัลไซเมอร์ โรคที่เกิดจากการเสื่อมของโปรตีนในสมอง ไม่ใช่โรคหลงลืม ในผู้สูงอายุ อย่างที่หลายคนเข้าใจ
29 มีนาคม 2567
หลายคนอาจมีชุดความคิดเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ว่าเป็นภาวะหลง ๆ ลืม ๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม โรคอัลไซเมอร์นั้น ซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของโปรตีนชนิดหนึ่งในสมอง และไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทุกคน เพื่อเป็นการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจต่อตัวโรคที่ถูกต้อง วันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ให้ทุกคนได้ทราบกัน
อัลไซเมอร์ เกิดจากอะไร?
‘อัลไซเมอร์’ เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของเนื้อเยื่อสมองซึ่งไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ โรคอัลไซเมอร์มักถูกตรวจวินิจฉัยพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ โดยความเสื่อมที่กล่าวมานั้น เกิดจากโปรตีนที่มีชื่อว่า ‘เบต้า-อะไมลอยด์’ (Beta-Amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ไปจับกับเซลล์สมอง และส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง เป็นเหตุให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
การสะสมของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วน ‘ฮิปโปแคมปัส’ (Hippocampus) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่จดจำข้อมูลใหม่ ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะกระจายไปสู่สมองส่วนอื่น ๆ และส่งกระทบต่อ การเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด การใช้ภาษา และพฤติกรรม เป็นต้น
อัลไซเมอร์ มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ?
- อายุที่มากขึ้น
- โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน
- บุคคลในครอบครัว มีประวัติป่วยเป็นอัลไซเมอร์
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ไม่รับผิดชอบ หรือไม่ได้ฝึกพัฒนาความคิด
อัลไซเมอร์ มีอาการอย่างไร ?
- ระยะแรก: ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยที่สามารถสังเกตตัวเองได้ ถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ มีการสับสนทิศทาง มีภาวะเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสามารถสื่อสาร และประกอบกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง
- ระยะกลาง: ผู้ป่วยจะมีความจำที่แย่ลง อาจมีอาการเดินออกจากบ้านแบบไม่มีจุดหมาย มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เริ่มมีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟเองไม่ได้ ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ได้ มีชุดความคิดที่ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย คิดว่าคู่สมรสนอกใจ เป็นต้น
- ระยะท้าย: ผู้ป่วยจะมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรม รับประทานอาหารน้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิต
อัลไซเมอร์ สามารถรักษาได้อย่างไร ?
ปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่เราสามารถรักษาแบบประคองอาการผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้:
- รักษาโรคร่วมอย่างตรงจุด
- ดูแลสุขภาพกายและใจในทุกมิติ
- หากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง
- วางแผนการรักษาในระยะยาว ปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย
- ใช้ยากระตุ้นการทำงาน หรือส่งเสริมประสิทธิภาพของสมอง
บทความโดย : พญ.อาภากร เมืองแดง,รพ.พิษณุเวช, ต.ค.66
ข้อมูล ณ ต.ค.66
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
ไขข้อสงสัย: โรคมะเร็ง ป้องกันได้จริงหรือ?
มะเร็งเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่ขึ้นชื่อเรื่องความอันตราย และความยากในการรักษา ผลกระทบที่เกิดจากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง นอกจากจะเกิดกับตัวผู้ป่วยเอง ยังส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัว
บทความทางการแพทย์
28 มีนาคม 2567
‘มะเร็งปากมดลูก’ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของหญิงไทย คัดกรองก่อน ป้องกัน-รักษาได้
มะเร็งปากมดลูก เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบอันดับต้น ๆ ที่พรากชีวิตหญิงไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคดังกล่าวจะฟังดูอันตราย อีกทั้งยังถูกตรวจวินิจฉัยพบได้บ่อยแต่มะเร็งปากมดลูกมักถูกมองข้ามโดยกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น
บทความทางการแพทย์
26 มีนาคม 2567
โรคซึมเศร้า (Depression) รู้และเข้าใจ โรคทางจิตเวชใกล้ตัวที่เราวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ รู้ก่อน รับการรักษาได้ก่อน
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย