
โรคคอตีบ คืออะไรโรคติอต่อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ
26 มีนาคม 2567

“โรคคอตีบ” เป็นโรคติอต่อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็กและมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากสาเหตุทางเดินหายใจอุดตันหรือจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคคอตีบเกิดจากอะไร
คอตีบเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Corynebacterium diphtheriae ผ่านทางการไอ จาม รดกัน หรือใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกัน มักแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-5 วัน ทําให้เกิดการอักเสบขึ้นในช่อง ทางเดินหายใจ ตั้งแต่โพรงจมูกจนถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีแผ่นเยื่อลักษณะเป็นปื้นสีขาวเทาหรือเหลืองเทาเกิดขึ้นในช่องลําคอจนทําให้มีภาวะทางเดินหายใจตีบแคบและอุดตันได้ นอกจากนี้สารพิษที่เชื้อโรคคอตีบปล่อยออกมายังทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบด้วย โรคคอตีบเป็นโรคที่มีอัตราตายสูงมาก ในผู้ป่วย 10 ราย จะมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย
โรคคอตีบ สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักไม่พบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากเด็กในช่วงอายุนี้ได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่แล้วและมีโอกาสสัมผัสโรคน้อย
อาการของคอตีบ
ผู้ป่วยโรคคอตีบหรือผู้ติดเชื้อคอตีบที่ยังไม่มีอาการ สามารถแพร่เชื้อที่อยู่ในจมูกหรือลำคอไปสู่ผู้อื่นได้ เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในลำคอผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ประมาณ 2 สัปดาห์
เริ่มต้นอาการด้วยมีไข้ต่ำ ๆ (มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส และอาจรู้สึกหนาวสั่น) มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก แต่ไม่มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอมาก คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาจะมีแผ่นฝ้าสีขาวอมเทาติดแน่นที่บริเวณทอนซิล ช่องคอและ/หรือโพรงจมูก กล่องเสียง
วิธีการรักษา
เมื่อสงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างป่วยเป็นโรคคอตีบ จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว โดยแพทย์สั่งยาปฏิชีวนะ ให้รับประทานนาน 14 วัน บางรายอาจได้รับยาทำลายพิษของเชื้อโรคคอตีบร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจต้องเจาะคอ เพื่อช่วยหายใจ หลังจากเป็นปกติ ผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตามเกณฑ์ 3 ครั้ง เพราะการป่วยด้วยโรคคอตีบไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคคอตีบในอนาคตได้
วิธีการป้องกัน
การฉีดวัคซีนสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคคอตีบได้ ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่ช่วงทารก วัยเด็ก ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือหากได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ควรรีบเข้าพบแพทย์ สำหรับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่ายจึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน
เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคร้าย ไม่ควรใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขลักษณะอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเวลาไอหรือจาม ก่อนรับประทานอาหารและหลังรับประทานอาหาร และหลังการเข้าห้องน้ำรวมทั้งสวมหน้ากากป้องกันโรคเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินลมหายใจ
จะเห็นได้ว่าโรคคอตีบหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้างหากสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็วที่สุด
ข้อมูล : ต.ค.66
บทความโดย : นพ.ไอยรัตน์ ทองกำเหนิด, โรงพยาบาลวิรัชศิลป์, ต.ค.66
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
12 มีนาคม 2567
โรคต้อ คืออะไร 4 โรคต้อ “ภัยร้ายต่อดวงตา” รู้ทันก่อนสูญเสียการมองเห็น
ในวัยผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา มาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว เบลอ มองไม่ชัด ซึ่งส่วนมากก็จะพบว่าเป็นโรค “โรคต้อ” โรคนี้ถ้าหากปล่อยไว้อาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
บทความทางการแพทย์
28 มีนาคม 2567
‘มะเร็งปากมดลูก’ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของหญิงไทย คัดกรองก่อน ป้องกัน-รักษาได้
มะเร็งปากมดลูก เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบอันดับต้น ๆ ที่พรากชีวิตหญิงไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคดังกล่าวจะฟังดูอันตราย อีกทั้งยังถูกตรวจวินิจฉัยพบได้บ่อยแต่มะเร็งปากมดลูกมักถูกมองข้ามโดยกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น
บทความทางการแพทย์
13 มีนาคม 2567
ฮีทสโตรค (Heat Stroke) คืออะไร อาการเป็นอย่างไร ภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต
“ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีหน้าร้อนทั้งปี ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถลดอุณหภูมิกายลงได้ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตได้สูงมาก”