Header

mark

“โรคกรดไหลย้อน” อาการและการรักษา อาการแสบร้อนกลางอกที่ควรรีบรักษาก่อนกลายเป็นเรื้อรัง

22 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : นพ.ภูวพัศ พิศุทธกุล, อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร, รพ.พิษณุเวช

blog

โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องอย่างเช่น “โรคกรดไหลย้อน” ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินผู้คนพูดถึงเรื่องโรคนี้กันบ่อยมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวมากเป็นโรคที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้และพบได้ในคนทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

ภาวะกรดไหลย้อน หรือ Gerd เป็นภาวะที่น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร

โรคกรดไหลย้อนคือ ? 

โรคกรดไหลย้อน ในทางการแพทย์ เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหารส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้

ภาวะที่มีการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหารแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 เป็นระดับที่อ่อนที่สุด คือ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง หรือนาน ๆ เป็นทีแล้วก็หายไป มีภาวะไหลย้อนนิดหน่อย ไม่มีอาการอะไรที่รบกวนสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความปกติของร่างกาย เรียกว่า ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร (Gastroesophageal Reflux – GER)

ระดับที่ 2 คือ เกิดภาวะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับกระเพาะอาหาร มีอาการที่รบกวนสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD)

ระดับที่ 3 คือ เกิดภาวะไหลย้อนที่รุนแรง คือ ไหลเข้าสู่หลอดอาหารย้อนขึ้นมาจนถึงคอ อย่างนี้เรียกว่า โรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ (Laryngopharyngeal Reflux – LPR)

อาการจะมีการแสบร้อนกลางอก จุกคอ จุกท้อง อึดอัด

 

สาเหตุของกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราและโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น

  • พฤติกรรมกินอาหารที่ทำให้หูรูดถูกกระตุ้นได้ง่าย เช่น อาหารรสจัด เผ็ด เค็ม หมักดอง ของมัน ของทอด อาหารย่อยยาก ทำให้หูรูดปิดลำบาก เกิดการกระตุ้นทำให้เกิดการระคายเคือง หรือหลังรับประทานอาหารแล้วนอนทันที
  • การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะไปกระตุ้นการทำงานของกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นจากเดิมที่มีกรดในกระเพาะอาหารในระดับหนึ่งตามปกติของร่างกาย
  • ภาวะอ้วน เนื่องจากคนอ้วนจะมีแรงดันในช่องท้องมาก ทำให้การเคลื่อนตัวของระบบอาหารได้ช้า อาหารแทนที่จะลงจากกระเพาะไปลำไส้ ทำให้เกิดการดีเลย์ ตีกลับขึ้นหลอดอาหาร
  • ภาวะหูรูดหย่อนกว่าคนอื่น เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ และใกล้คลอด เพราะร่างกายมีการปรับตัวเพื่อรองรับลูก เพราะฉะนั้นในช่องท้องแรงดันจะสูงขึ้น ทำให้หูรูดหลอดอาหารไม่แข็งแรง
  • ความเครียดและพักผ่อนไม่เต็มที่ กรดหลั่งเยอะทำให้มีภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย
  • การตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นความดันในกระเพาะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมีเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น
  • การรับประทานยาบางชนิด อาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน โดยผลข้างเคียงของยาจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์  ไม่ควรหยุดยาหรือซื้อยามารับประทานเอง

พฤติกรรมมีผลต่ออาการกรดไหลย้อนมาก เช่ ทานแล้วนอน หรือ แม้กระทั่งความเรียด

 

อาการของกรดไหลย้อน

  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก
  • มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก จุก คล้ายเหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ
  • หืดหอบ ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ
  • เจ็บคอเรื้อรัง

นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนบางราย อาจมีอาการแสดงอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ เจ็บหน้าอก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร

การรักษา

  1. การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • วิธีนี้สำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลงป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่คอ และกล่องเสียงมากขึ้น การรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้ว หรือหายดีแล้ว โดยไม่ต้องรับประทานยา
  1. การรับประทานยา
  • เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารหรือเพื่อการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรดปัจจุบันยาลดกรด เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี เห็นผลการรักษาเร็ว การรักษาโรคกรดไหลย้อน ควรรับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่งไม่ควรลดขนาดของยา หรือหยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำและควรไปตามที่แพทย์นัดสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1–3 เดือนอาการต่างๆจึงจะดีขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันได้รับประทานยาตอเนื่อง 2–3 เดือน แพทย์จะปรับขนาดยาลงทีละน้อย พบว่าประมาณ 90 % สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา
  1. การผ่าตัด

ส่วนน้อยที่รักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นที่คอและกล่องเสียง 

  • การรักษาวิธีนี้จะทำในกรณีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยยาอย่างเต็มที่แร้วไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้และสำหรับในรายที่มีอาการกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ หลังหยุดยา 

 

 โรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหารส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ เข้านอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณอก มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จุกเสียด แน่นท้อง 

แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะดูเป็นโรคที่ดูไม่น่ากลัว แต่หากเป็นบ่อยๆ แล้วปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง อาจส่งผลให้หลอดอาหารมีแผล หรือหลอดอาหารตีบ ทำให้บางคนกลืนอาหารลำบาก บ้างก็กลืนแล้วชอบติด หรือบางคนร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารเพราะหลอดอาหารส่วนปลายมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

บทความโดย : นพ.ภูวพัศ  พิศุทธกุล, อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร, รพ.พิษณุเวช, ต.ค.66

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566

 

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

สัญญาณเตือนโรคร้าย “มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”

01 พฤศจิกายน 2566

สัญญาณเตือนโรคร้าย “มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”

ท้องผูกสลับท้องเสีย อาการที่ดูเหมือนจะปกติแต่รู้หรือไม่!! นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย

บทความทางการแพทย์

ไวรัส RSV คืออะไร อาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจอันตรายมากกว่า

28 มีนาคม 2567

ไวรัส RSV คืออะไร อาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจอันตรายมากกว่า

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” ที่มักพบในเด็ก โรคชนิดนี้มีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้มากกว่า โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถึงขั้นปอดอักเสบและเสียชีวิตได้

บทความทางการแพทย์

วัณโรคภัยร้ายใกล้ตัว

07 พฤศจิกายน 2566

วัณโรค คืออะไร รักษายังไง ภัยร้ายใกล้ตัวที่คุกคามคุณภาพชีวิต

วัณโรคเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายนับว่าเป็นกลุ่มโรคที่อันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อติดเชื้อจะมีผลต่อปอด หรือที่เรียกว่า "วัณโรคปอด"