โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ รู้จักสัญญาณเตือนก่อนเสียการมองเห็น
28 มีนาคม 2567
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ก็เริ่มเสื่อมถอยตามกาลเวลา โดยเฉพาะ “ดวงตา” เป็นอวัยวะที่ใช้งานอย่างหนักและจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของเราทุกคน โรคพบได้บ่อยในวัยผู้สูงอายุ คือ “โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration: AMD)” โรคนี้ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ จนหลายคนชะล่าใจ และทำให้มารักษาล่าช้า ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวข้องกับดวงตาจึงควรพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งสามารถลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็นในอนาคตได้
โรคประสาทตาเสื่อมคืออะไร ?
โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุ มีการสะสมของเสียในดวงตา (drusen) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บริเวณกลางจอประสาทตารวมถึงจุดรับภาพชัด ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตรงกลางของภาพ (ตรงกลางลานสายตา) แต่ส่วนบริเวณด้านข้างของการมองเห็นจะยังคงดีอยู่
ในปัจจุบันนี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถทำให้การดำเนินของโรคช้าลงได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยคนไทยที่อายุมากกว่า 50 ปี พบโรคนี้มากถึงร้อยละ 12 และมากกว่าครึ่งหนึ่งตรวจเจอโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งสองข้างอีกด้วย
ประเภทของโรคจอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิด คือ
แบบที่ 1 แบบแห้ง (Dry AMD) หรือแบบเสื่อมช้า เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยเซลล์จอประสาทตาจะค่อย ๆ เสื่อมไปอย่างช้า ๆ การมองเห็นจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
แบบที่ 2 แบบเปียก (Wet AMD) หรือแบบเร็ว พบร้อยละ 10-15 ของโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยจะเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติและจอประสาทตาบวม รวมถึงมีเลือดออกที่จอประสาทตาร่วมได้
ปัจจัยเรื่องของโรคจอประสาทตาเสื่อมคืออะไร ?
มีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ส่งผลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Aged related macular degeneration) ได้แก่
- อายุ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด สามารถพบโรคนี้ได้ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จากการศึกษาวิจัยพบว่าหากอายุ 75 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงอายุ 65-74 ปี
- พันธุกรรม มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติสายตรง ผู้เกี่ยวข้องควรได้รับการตรวจจอประสาทตาทุก ๆ 1 ปี
- การสูบบุหรี่ มีหลักฐานยืนยันพบว่า การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างชัดเจน
- โรคความดันเลือดสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น เพศหญิง มีภาวะอ้วน คนผิวขาว คนสายตายาว เป็นต้น
อาการของโรคประสาทตาเสื่อมเป็นอย่างไร ?
- มองเห็นภาพจากแนวตรงเป็นลักษณะบิดเบี้ยวโค้งงอหรือเส้นขาดหาย
- มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ
- มองภาพหรืออ่านหนังสือที่ต้องใช้งานละเอียดยากกว่าปกติ
- การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มขึ้น
- มีจุดดำหรือจุดบอดบริเวณศูนย์กลางของภาพที่มองเห็น ทำให้มองเห็นใบหน้าของคนลำบาก
การรักษาโรคประสาทตาเสื่อมทำได้อย่างไรบ้าง ?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่สามารถชะลอให้การดำเนินของโรคจอประสาทตาเสื่อมช้าที่สุด โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น การงดสูบบุหรี่ รักษาโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- หากพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม แนะนำให้ ญาติมาตรวจตาคัดกรองกับจักษุแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- การรับประทานยาชนิดพิเศษ เพื่อชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาได้
- การยิงเลเซอร์ เพื่อทำลายเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติ ยับยั้งการเกิดเลือดออกในลูกตาได้
- การฉีดสารยับยั้งการงอกของหลอดเลือดในลูกตา มีการศึกษาวิจัยพบว่าสามารถช่วยให้ระดับการมองเห็นดีขึ้นได้ในผู้ป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้
- การผ่าตัดน้ำวุ้นตา
โรคประสาทตาเสื่อมส่วนใหญ่ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถชะลอให้ตัวโรคดำเนินช้าลง หากเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาประจำปี เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่ การตรวจคัดกรองดวงตาตั้งแต่เบื้องต้นจะช่วยให้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรงและอาจสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด
ข้อมูล : ต.ค.66
บทความโดย : นพ.ศุภราช เลาหพิทักษ์วร, จักษุแพทย์เฉาพะทาง, รพ.พริ้นซ์ อุบลราชธานี
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
28 มีนาคม 2567
ไวรัส RSV คืออะไร อาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจอันตรายมากกว่า
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” ที่มักพบในเด็ก โรคชนิดนี้มีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้มากกว่า โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถึงขั้นปอดอักเสบและเสียชีวิตได้
ข่าวสุขภาพ
กรมการแพทย์ แนะ วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5
ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของเรา เนื่องด้วย PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
บทความทางการแพทย์
26 มีนาคม 2567
กรวยไตอักเสบคืออะไร อาการเป็นยังไงและการรักษาทำอย่างไร
กรวยไตอักเสบ เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมักถูกตรวจวินิจฉัยพบได้มากกว่าในเพศหญิง