‘มะเร็งปอด’ ปัญหาใหญ่ อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษามะเร็ง
28 มีนาคม 2567
มะเร็งปอด เป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรไทยทั้งชายและหญิง มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการสูบบุหรี่ หรือการสูดดมควันบุหรี่มือสอง เนื่องจากการสูบบุหรี่ กลายเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อผ่อนคลาย และได้รับความนิยมในคนหลายกลุ่ม ทำให้คนเหล่านั้น ไม่ได้ตระหนักถึงความอันตรายที่จะตามมาในอนาคต จากกิจกรรมที่พวกเขาทำทุกวัน โดยวันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากมะเร็งปอด ให้ทุกคนได้ทราบกัน
มะเร็งปอด คืออะไร ?
‘มะเร็งปอด’ เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งมักถูกตรวจวินิจฉัยพบ เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก หรือแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว โดยมะเร็งปอด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามขนาดของเซลล์ ได้แก่:
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก: เซลล์จะเจริญเติบโตและสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาโดยมากสามารถทำได้โดยการใช้ยาหรือฉายรังสี
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก: พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก โดยมะเร็งปอดชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากถูกตรวจวินิจฉัยพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
มะเร็งปอด มีสาเหตุมาจากอะไร
ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดได้ เช่น:
- การสูบบุหรี่: ผู้ที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 - 30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์
- มลภาวะในสิ่งแวดล้อม และสารพิษต่าง ๆ: ควันบุหรี่มือสอง สารหนู รังสี และสารเคมีอื่น ๆ เป็นต้น
- ช่วงวัย: ความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้น
- คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งปอด: ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
มะเร็งปอด มีอาการแสดงอย่างไร ?
ในระยะเริ่มต้น มะเร็งปอด มักจะไม่แสดงอาการ แต่จะมีอาการที่สังเกตได้เมื่อโรคลุกลามแล้ว ได้แก่:
- มีอาการไอเรื้อรัง (ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ) ไอมีเลือดปน
- หายใจสั้น หรือหายใจมีเสียงหวีด
- เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
- ติดเชื้อในปอดบ่อย ๆ
- เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
มะเร็งปอด สามารถรักษาได้อย่างไร ?
- การผ่าตัด: เพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด เป็นวิธีการที่โดยทั่วไปจะไม่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก
- การฉายรังสี: เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น วิธีนี้สามารถใช้เพื่อควบคุมการลุกลามของมะเร็งเฉพาะจุด ใช้เวลาไม่นาน และไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง หรือมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด: เป็นวิธีการส่งเสริมให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การให้ยาเคมีบำบัด: เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย
- การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง: เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียง
- การรักษาด้วยการผสมผสาน: โดยทั่วไปแล้ว การรักษามะเร็ง อาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไปเพื่อให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยขึ้นกับอาการ และระยะของโรค
มะเร็งปอด สามารถป้องกันได้อย่างไร ?
- ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ และเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
- เลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง อยู่ในที่ ๆ มีอากาศบริสุทธิ์
- ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
ตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง รู้ก่อน รักษาได้ก่อน
แม้ว่าปัจจุบัน เราจะยังไม่มีวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดแบบง่าย หรือวิธีตรวจมะเร็งปอดด้วยตัวเองเหมือนการตรวจมะเร็งเต้านม แต่เราก็มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยตรวจคัดกรองได้ เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ และการตรวจคัดกรองนี้เอง ที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยพบโรค และทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
บทความโดย : นพ.เฉลิมพลรัตนอุดมวรรณา, รพ.พิษณุเวช,ต.ค.66
ข้อมูล ณ ต.ค.66
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
29 มีนาคม 2567
อัลไซเมอร์ โรคที่เกิดจากการเสื่อมของโปรตีนในสมอง ไม่ใช่โรคหลงลืม ในผู้สูงอายุ อย่างที่หลายคนเข้าใจ
‘อัลไซเมอร์’ เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของเนื้อเยื่อสมองซึ่งไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ โรคอัลไซเมอร์มักถูกตรวจวินิจฉัยพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์
บทความทางการแพทย์
ไขข้อสงสัย: โรคใหลตายคืออะไร?
ในอดีต หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ‘โรคใหลตาย’ อาจเป็นนิยามที่ถูกเอามาใช้ในการอธิบายการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
บทความประชาสัมพันธ์
ชวนติดตาม ”พาราลิมปิกเกมส์ 2024“ ที่เป็นมากกว่าเวทีการแข่งขันกีฬา คือการแสดงศักยภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางร่างกาย
“ร่างกายของเราไม่ได้พิการหรอก จริงๆสิ่งแวดล้อมรอบๆต่างหาก นั่นแหละที่พิการ” คำพูดจากผู้พิการที่บอกเล่าต่อกันมา เป็นคำพูดที่ชวนให้เราฉุกคิดถึงความแตกต่างและหลากหลายในเชิงกายภาพของมนุษย์ และหยั่งรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง 1 ในสิ่งที่จะสร้างการรับรู้ การมีตัวตนของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก็คือการมีพื้นที่และเวทีได้แสดงออกซึ่งความความสามารถ และได้รับการยอมรับ ซึ่งหนึ่งในเวทีด้านการกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ก็คือ พาราลิมปิกเกมส์ นั่นเอง